ตอนนี้เป็นตอนที่ 2 ค่ะ ต่อจากตอนแรกที่เรื่องการขอสัญชาติดัตช์แบบ Naturalisatie ตอนนี้เป็นตอนที่แปลยากมากค่ะ เพราะเป็นภาษากฎหมาย และไม่มีประสบการณ์ตรง รู้คร่าวๆ แค่ว่า เราคนไทยมีสิทธิ์ที่จะขอสัญชาติแบบนี้ และเป็นการขอสัญชาติที่ค่าธรรมเนียมถูกสุด ง่ายสุด พิจารณาเร็วสุด — รู้แค่นี้เลยค่ะ — ที่เหลืออ่าน และต้องถามพี่แป๋ว เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ ล่ามและนักแปลแห่ง Thai voor Taal ต้องขอบคุณพี่แป๋วมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนค่ะว่า การจะมีสัญชาติดัตช์ได้นั้น เกิดขึ้นได้ 4 ทางค่ะคือ
การถือสัญชาติดัตช์
1. มีสัญชาติดัตช์โดยกำเนิด (Nederlander door geboorte of erkenning) — คือแบบพ่อหรือแม่เป็นคนดัตช์น่ะค่ะ ลูกก็ได้สัญชาติดัตช์ไปด้วย โดยไม่สนใจว่าจะเกิดที่ประเทศใดก็ตามค่ะ ถ้าพ่อหรือแม่มีสัญชาติดัตช์ ลูกก็ได้สัญชาติดัตช์ไปด้วยค่ะ
2. โดยการขอสัญชาติดัตช์ (Naturalisatie) — อันนี้คือที่บทความตอนที่แล้วได้อธิบายไปแล้วค่ะ เป็นการขอสัญชาติที่เราคนไทยที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์มีสิทธิที่จะขอได้ค่ะ
3. โดย Optie — วิธีการขอแบบนี้ เหมาะสำหรับคนต่างชาติที่อาศัยอยู่เนเธอร์แลนด์นานๆ แล้วน่ะค่ะ — ซึ่งบทความตอนนี้จะเขียนถึงเรื่องนี้ค่ะ
4. การถือสัญชาติดัตช์โดยอาศัยอยู่ในหมู่เกาะที่รัฐอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ อันได้แก่ เกาะ Aruba, Curaçao, Sint Maarten, Bonaire, Sint Eustatius และเกาะ Saba ค่ะ — หมู่เกาะเหล่านี้ นับเป็นประเทศเนเธอร์แลนด์ค่ะ ดังนั้นชาวต่างชาติผู้อยู่อาศัยในหมู่เกาะเหล่านี้ และมีคุณสมบัติครบ ก็มีสิทธิ์ขอสัญชาติดัตช์ได้เช่นเดียวกับชาวต่างชาติที่อาศัยในเนเธอร์แลนด์ค่ะ
การขอสัญชาติแบบ optie นี้ เป็นวิธีการที่ง่ายและพิจารณาไวที่สุดค่ะ ค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าแบบอื่น
คุณสมบัติ
ต้องเข้าตามคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ค่ะ
*** อนึ่ง ต่อไปนี้ถ้าเขียนว่า “ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์” ในที่นี้ จะหมายรวมถึง ประเทศเนเธอร์แลนด์ และหมู่เกาะในอาณานิคม เช่น เกาะ Aruba, Curaçao, Sint Maarten, Bonaire, Sint Eustatius และเกาะ Saba ด้วยค่ะ
- เกิดในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และอาศัยอยู่ในประเทศนี้เรื่อยมาตั้งแต่เกิด และตอนที่ยื่นขอต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี รวมถึงขณะที่ทำเรื่องยื่นขอสัญชาตินั้น เจ้าตัวมีบัตรผู้อยู่อาศัย (verblijfsvergunning) ที่ยังไม่หมดอายุค่ะ
- บุคคลไร้สัญชาติ ที่เกิดในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และอาศัยอยู่ในประเทศนี้อย่างต่อเนื่องแบบถูกต้องตามกฎหมายมาไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยขณะที่ทำเรื่องยื่นขอสัญชาติดัตช์นั้น ถือบัตรผู้อยู่อาศัย (verblijfsvergunning) ที่ยังไม่หมดอายุค่ะ
- ผู้เยาว์ที่อายุไม่ถึง 18 ปี และมีบิดาผู้มีสัญชาติดัตช์รับรองเป็นบุตร แต่ด้วยเหตุอันใดก็ตาม เด็กนั้นยังไม่ได้รับสัญชาติดัตช์ตามบิดา และได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี — เช่น นาย Jan มาเที่ยวเมืองไทย แล้วก็ไปทำผู้หญิงไทย นางสาว C ท้อง แต่นาย Jan กลับมาฮอลแลนด์ก่อน ไม่ทันทราบว่าตัวเองกำลังจะเป็นพ่อคน และนางสาว C ไม่สามารถติดต่อนาย Jan ได้ กาลต่อมาลูกโตขึ้น ตามหาพ่อผ่านรายการ Spoorloos ของดัตช์จนเจอกัน นาย Jan ขอตรวจ DNA ผลออกมาเป็นพ่อ-ลูกกันจริง นาย Jan ก็ทำเรื่องรับรองบุตรให้ลูก และเอาลูกมาอยู่ด้วยกันที่เนเธอร์แลนด์ อยู่กันจนครบ 3 ปี ลูกของนาย Jan ก็มีสิทธิ์ขอสัญชาติดัตช์ได้ตามเงื่อนไขนี้ค่ะ
- อายุมากกว่า 18 ปี อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โดยขณะที่ทำเรื่องยื่นขอสัญชาติดัตช์นั้น ถือบัตรผู้อยู่อาศัย (verblijfsvergunning) ที่ยังไม่หมดอายุค่ะ
- อายุมากกว่า 18 ปี เคยมีสัญชาติดัตช์มาก่อนค่ะ แต่ด้วยเหตุอันใดๆ ทำให้ต้องเสียสัญชาติดัตช์ไปค่ะ และขณะที่ยื่นขอสัญชาตินี้ อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยถือบัตรผู้อยู่อาศัยแบบถาวร (verblijfsvergunning voor onbepaalde tijd) หรือบัตรผู้อยู่อาศัยชั่วคราวแบบ Niet-tijdelijke doelen (รายละเอียดของบัตรผู้อยู่อาศัยแบบนี้ อ่านได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ Tijdelijke en niet-tijdelijke verblijfsdoelen )
- แต่งงานหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์กับคนสัญชาติดัตช์มาไม่น้อยกว่า 3 ปี และอยู่ด้วยกันต่อเนื่องกับคนเดิมในช่วง 3 ปีนั้น และต้องอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์มาไม่น้อยกว่า 15 ปี
- อายุมากกว่า 65 ปี และอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์อย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 15 ปี ด้วยบัตรผู้อยู่อาศัยที่ยังไม่หมดอายุค่ะ
- เกิดก่อน 1 มกราคม 1985 โดยมีแม่เป็นคนดัตช์ แต่พ่อไม่ได้มีสัญชาติดัตช์ในขณะที่เกิด — และบุตรคนที่เข้าข่ายข้อนี้ ก็มีสิทธิ์ได้สัญชาติดัตช์ค่ะ แต่ต้องติดต่อ gemeente เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
- ได้รับการอุปการะโดยหญิงดัตช์ ก่อน 1 มกราคม 1985 — บุตรที่เกิดจากคนที่เข้าข่ายข้อนี้ ก็มีสิทธิ์ขอสัญชาติดัตช์เช่นกันค่ะ แต่รายละเอียดต้องไปติดต่อ gemeente ค่ะ
- อายุต่ำกว่า 18 ปี และไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศที่ตนมีสัญชาติอยู่ และอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งที่มีสัญชาติดัตช์ เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี เช่น นางสาว A มีลูกติดชื่อ น้อง B มาจากเมืองไทย ย้ายมาและพาลูกมาด้วยน่ะค่ะ มาอยู่กับแฟนคนดัตช์ แฟนคนดัตช์รับรองเป็นผู้ปกครองเด็กให้น่ะค่ะ คือเด็กน้อยมีสัญชาติไทยตามบิดามารดา แต่พอมาอยู่ที่นี่ครบ 3 ปีภายใต้การปกครองของแฟนใหม่ของแม่คนดัตช์ เด็กน้อยก็มีสิทธิขอสัญชาติดัตช์ได้ค่ะ ถึงแม้ว่าแม่จะยังคงถือสัญชาติไทยอยู่ก็ตาม (แม่ นางสาว A ไม่ได้ขอสัญชาติดัตช์ ให้ลูกขอคนเดียว กรณีนี้ทำได้ค่ะ)
- เดิมมีสัญชาติดัตช์ค่ะ แต่ต่อมาไปแต่งงานกับชายที่ไม่ได้มีสัญชาติดัตช์ การแต่งงานเกิดขึ้นก่อน 1 มกราคม 1985 และผลของการแต่งงานนั้นทำให้สูญเสียสัญชาติดัตช์ไป — หากกาลต่อมา ชีวิตสมรสไม่ราบรื่น ภายใน 1 ปี หลังจากการหย่า หญิงนั้นมีสิทธิ์ขอสัญชาติดัตช์ใหม่ได้ค่ะ แต่ต้องขอภายใน 1 ปี หลังจากหย่านะคะ ในกรณีนี้ขณะที่ทำเรื่องขอสัญชาติ ไม่จำเป็นว่าผู้ขอจะต้องอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ค่ะ
และขอสำคัญอีกข้อคือ บัตรผู้อยู่อาศัยของเรา รีบต่ออายุ อย่าให้ขาดช่วงเชียวนะคะ เพราะจะทำให้คุณสมบัติในการขอสัญชาติของเราขาด และต้องนับหนึ่งกันใหม่เลยทีเดียว
เงื่อนไข
- ตรงตามคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งใน หัวข้อ “คุณสมบัติ”
- ตลอดเวลา 5 ปีย้อนหลังที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์หรือในต่างประเทศเนี่ย ไม่เคยถูกพิพากษาต้องโทษจำคุกหรือถูกให้ลงอาญา สำหรับการก่อคดีอาชญากรรม ไม่ติดคดีอาญาที่ต้องจ่ายค่าปรับสูงๆ แบบสูงมากกว่า 810 ยูโร หรือสูงกว่า 405 ยูโร แต่รวมยอดค่าปรับทั้ง 5 ปีแล้ว เกิน 1,215 ยูโรค่ะ
- ไม่ได้แต่งงานกับผู้หญิง หรือผู้ชายมากกว่า 1 คนในคราวเดียวกัน (คือไม่ได้สมรสซ้อนน่ะค่ะ)
- ถ้าได้สัญชาติดัตช์ ต้องทำพิธีรับสัญชาติอย่างเป็นทางการค่ะ
- ต้องสละสัญชาติเดิม ในกรณีที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่อายุ 4 ขวบค่ะ
เอกสาร
- พาสปอร์ตที่ยังไม่หมดอายุ
- บัตรผู้อยู่อาศัยที่ยังไม่หมดอายุ
- ใบสูติบัตร ที่แปลและรับรองเอกสารเรียบร้อยแล้ว
ค่าใช้จ่าย
การขอสัญชาติมีค่าใช้จ่ายค่ะ ถ้าขอสัญชาติคนเดียวก็อยู่ที่ 184 ยูโรค่ะ
ถ้ายื่นขอร่วมกันกับแฟน (ในกรณีที่แฟนของเราไม่ได้มีสัญชาติดัตช์น่ะค่ะ) อันนี้จ่าย 314 ยูโร
ถ้าแม่ยื่นขอสัญชาติพร้อมลูกติดแม่ไปด้วยกันเลย กรณีก็จ่ายค่าขอสัญชาติของลูกเพิ่มอีก 21 ยูโรค่ะ
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมค่าทำพาสปอร์ต และบัตรประชาชนดัตช์นะคะ — คือถ้าผลขอสัญชาติผ่าน ก็ต้องไปทำพาสปอร์ต อันนั้นจ่ายอีกคนละ 65 ยูโรสำหรับผู้ใหญ่ บัตรประชาชนดัตช์ก็คนละ 51 ยูโรค่ะ (ราคานี้เป็นราคาคร่าวๆ ค่ะ ราคาจริงแกว่งตามแต่ละ gemeente ค่ะ)
ระยะเวลาพิจารณา
gemeente เป็นผู้พิจารณาเอกสารค่ะ โดยใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 13 สัปดาห์ (นับว่าใช้เวลาน้อยมากค่ะ ถ้าเทียบกับการขอสัญชาติแบบ naturalisatie ที่ใช้เวลาในการพิจารณาเป็นปี)
ผลการพิจารณามีได้ทั้งข่าวดีและข่าวร้ายค่ะ gemeente จะส่งผลพิจารณาเป็นจดหมายมาหาที่บ้านค่ะ — ถ้าโชคร้าย ผลเป็นไปในทางลบ ในจดหมายนั้นก็จะอธิบายเหตุผลค่ะ ว่าทำไมจึงไม่ผ่าน ถ้าเราไม่เห็นด้วย เราก็สามารถทำเรื่องคัดค้านได้ค่ะ — ถ้าผลเป็นไปในทางบวก ก็ยินดีด้วยค่ะ และเราจะได้รับจดหมายเชิญให้ไปทำพิธีรับสัญชาติอย่างเป็นทางการที่ gemeente ค่ะ
อ้างอิง
- ทั้งหมดนี้ แปลสรุป และทำความเข้าใจมาจากลิงก์ของ IND ลิงก์นี้เป็นหลักเลยค่ะ https://ind.nl/Nederlanderschap/Paginas/Optie.aspx
- รายการค่าใช้จ่ายในการขอสัญชาติค่ะ https://ind.nl/Paginas/Kosten.aspx#Nederlander_worden
- ลิงก์นี้เป็นตัวกฎหมายเลยค่ะ การขอสัญชาติแบบ optie จะอยู่ใน Hoofdstuk 3. Verkrijging van het Nederlanderschap door optie ค่ะ http://wetten.overheid.nl/BWBR0003738/2017-03-01#Hoofdstuk3