เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปีที่แล้ว ทางสยามสมาคมเขาได้จัดงานบรรยายเรื่อง “กฎหมายไทยควรรู้ สำหรับคนไทยในต่างแดน” ขึ้นค่ะ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการสูงสุดที่เมืองไทยมาเป็นวิทยากร จัดขึ้นที่วัดพุทธวิหาร อัมสเตอร์ดัม — ได้มีโอกาสเข้าฟังด้วย ได้รับความรู้มากมาย เลยเอาที่จดๆ มา และมาหาข้อมูลทำการบ้านเพิ่มนิดหน่อยในส่วนที่ยังไม่เข้าใจ แล้วก็นำมาเขียนเป็นบทความชิ้นนี้นี่แหละค่ะ
ในงานบรรยาย มีหลายหัวข้อนะคะ เดี๋ยวว่างๆ จะทยอยเขียนเป็นบทความเพิ่มค่ะ — ตอนนี้เอาเรื่องเกณฑ์ทหารก่อนเนอะ
ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะการเกณฑ์ทหารสำหรับลูกครึ่งไทย-ดัตช์ หรือเด็กชายไทยที่ติดตามแม่มาอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้นนะคะ ในบทความอาจจะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปบ้าง และภาษาที่ใช้ก็ไม่เป็นทางการ ประมาณเอามาเล่าสู่กันฟัง — หากอยากได้แบบวิชาการจริงจัง เลื่อนลงไปคลิกลิงก์ที่เอกสารอ้างอิงท้ายบทความได้เลยค่ะ
การแจ้งเกิด
-
- มี 2 ทางเลือก
- ไม่แจ้งเกิดลูกที่สถานทูตไทย ณ กรุงเฮก หรือไม่เอาชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านไทย — (กลายเป็นว่า ลูกไม่ได้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ถือพาสบอร์ตดัตช์อย่างเดียว)
- แจ้งเกิดลูกตามปกติ ทำตามขั้นตอน และทำเรื่องผ่อนผันเมื่อถึงเวลา
เด็กลูกครึ่งไทย-ดัตช์ จะมีสิทธิ์ในทั้ง 2 สัญชาติค่ะ คือทั้งสัญชาติไทย และสัญชาติเนเธอร์แลนด์
การถือ 2 สัญชาติ หมายความว่า เราเป็นทั้งคนไทยเต็มร้อย และเป็นคนดัตช์เต็มร้อย ค่ะ แปลว่า เรามีหน้าที่ของการเป็นพลเมืองทั้งไทยและดัตช์เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งคู่ค่ะ (หน้าที่พลเมืองเราจะเยอะขึ้นกว่าคนที่ถือสัญชาติเดียวค่ะ)
แต่การที่เด็กลูกครึ่งจะมีสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ได้นั้น ก็ต้องนำสูติบัตรดัตช์ แปลและไปแจ้งเกิดที่สถานทูตค่ะ รวมถึงต้องนำชื่อเด็กไปเข้าชื่อในทะเบียนบ้านที่เมืองไทยด้วยค่ะ เพื่อที่เด็กจะได้มีเลขประจำตัวคนไทย 13 หลัก
คราวนี้เนี่ย มีคุณแม่หลายคนที่กังวลว่าลูกชายจะต้องโดนเกณฑ์ทหารเมื่อโตขึ้น จึงไม่ไปแจ้งเกิดลูกที่สถานทูต หรือไม่เอาชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านที่ไทยค่ะ — ตรงนี้จะมีข้อดีคือ ลูกจะไม่เจอหมายเรียกให้ไปเกณฑ์ทหาร แล้วก็ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องเอกสารต่างๆ ทั้งเรื่องลงทะเบียนทหารกองเกิน รับหมายเรียก ผ่อนผัน ฯลฯ …. แต่ก็มีข้อเสีย คือ เด็กจะเสียสิทธิความเป็นคนไทย เช่น ทำบัตรประชาชน ทำพาสปอร์ตไทย (ทำครั้งแรกสถานทูตอนุโลมให้ แต่ครั้งถัดมาทำไม่ได้ค่ะ) หรือสิทธิในการถือครองที่ดินเมืองไทย รับราชการเมืองไทย ฯลฯ
ขั้นตอนการเข้ารับราชการทหาร
- ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน
- รับหมายเรียก หรือรับหมายเกณฑ์
- การตรวจเลือก
- การเรียกพลของทหารกองหนุน
๑. ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน
กระทำเมื่อลูกเรามีอายุ 17 ปีย่างเข้า 18 ค่ะ — วิธีคำนวณคือ เอา ปี พ.ศ.เกิด หรือ ปี ค.ศ. เกิด + 17 = ปีที่ต้องทำเรื่องลงทะเบียนทหารกองเกิน เช่น ลูกเรายังเด็กน้อย เกิดเมื่อปี ค.ศ. 2017 –> 2017+17 = 2034 — แสดงว่า ปี ค.ศ. 2034 คุณแม่ก็เตรียมทำเรื่องลงบัญชีทหารกองเกินได้แล้วค่ะ
การลงทะเบียนหหารกองเกิน ถ้ากระทำในปีที่อายุครบ 17 ย่าง 18 ปีนั้น มีข้อดีค่ะ คือลูกเราไม่ต้องกลับเมืองไทยไปทำเรื่อง สามารถมอบอำนาจให้ญาติพี่น้องที่บรรลุนิติภาวะแล้วไปจัดการลงทะเบียนแทนให้ได้ค่ะ จะไปเดือนไหนในปีนั้นก็ได้ค่ะ — แต่ถ้าพ้นปีนั้นไปแล้ว การลงทะเบียนทหารกองเกิน ลูกเราต้องไปด้วยตัวเองแล้วค่ะ มอบอำนาจไม่ได้แล้ว
การลงทะเบียนกระทำที่สัสดีเขต หรือสัสดีอำเภอที่แม่มีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ค่ะ พอลงทะเบียนเสร็จแล้ว จะได้ใบสำคัญ ที่เรียกว่า แบบ สด.9 มาค่ะ เก็บไว้ให้ดีนะคะ เดี๋ยวต้องเอามาใช้ต่อในการผ่อนผันค่ะ
๒. รับหมายเรียก หรือรับหมายเกณฑ์
เกิดขึ้นเมื่ออายุ 20 ปี ย่างเข้า 21 ค่ะ — วิธีคำนวณคือ เอา ปี พ.ศ.เกิด หรือ ปี ค.ศ. เกิด + 20 = ปีที่ต้องทำเรื่องลงทะเบียนทหารกองเกิน เช่น ลูกเรายังเด็กน้อย เกิดเมื่อปี ค.ศ. 2017 –> 2017+20 = 2037 — แสดงว่า ปี ค.ศ. 2037 คุณแม่ก็เตรียมทำเรื่องรับหมายเรียกได้แล้วค่ะ
การรับหมายเรียกเนี่ย มอบอำนาจให้ญาติ หรือเราผู้ปกครองไปรับแทนได้นะคะ ลูกเราไม่จำเป็นต้องกลับเมืองไทย โดยใช้เหตุผลว่า ไปอยู่ต่างประเทศยังไม่มีกำหนดกลับหรือมีกำหนดกลับ แต่วันที่จะกลับนั้นเลยกำหนดเวลาการรับหมายเรียกฯ
พอรับหมายเรียกเสร็จขั้นตอนแล้ว เราจะได้รับเอกสารสำคัญ ที่เรียกว่า แบบ สด.35 ค่ะ เก็บไว้ให้ดีนะคะ จะต้องใช้ต่อในกระบวนการถัดไปค่ะ
การผ่อนผัน
กระทำตอนช่วงอายุระหว่าง 20 – 21 ปีค่ะ คือปีเดียวกับที่ทำเรื่องรับหมายเกณฑ์ คุณแม่ก็เตรียมตัวทำเรื่องการผ่อนผันให้ลูกได้เลยค่ะ โดยเหตุผลของการผ่อนผัน คือลูกของเรากำลังศึกษาอยู่ค่ะ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ไปขอหนังสือรับรองจากสถานศึกษาที่ลูกเราเรียนอยู่ค่ะ — เจ้าหน้าที่อัยการสูงสุดแนะนำว่า ในใบรับรองของสถานศึกษาควรมีระบุว่า กำลังศึกษาชั้นปีที่เท่าไร คณะ สาขาที่เรียน การศึกษามีหลักสูตรกี่ปี และคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาเมื่อไร — ซึ่งจะได้ช่วยประหยัดเวลาค่ะ เราจะได้ไม่ต้องมาผ่อนผันปีต่อปีอยู่ แต่ผ่อนผันไปจนสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนั้นเลย
เมื่อได้ใบรับรองของสถานศึกษามาแล้ว ก็นำมาแปลเป็นภาษาไทย พร้อมลงชื่อของผู้แปลค่ะ
สิ่งที่เราจะได้รับจากสถานทูตคือ “หนังสือรับรองจากสถานทูต” ค่ะ —> จากนั้น ให้เรานำหนังสือรับรองนี้ ไปทำเรื่องผ่อนผันที่สัสดีเขตหรือสัสดีอำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองไทยค่ะ
การยื่นขอผ่อนผันต้องยื่นในเดือนกุมภาพันธ์ หรือก่อนถึงวันเกณฑ์ทหารไม่เกิน 15 วัน ในปีที่ลูกเราอายุ 21 ปีค่ะ (เอาปี ค.ศ.เกิด +21 = ปีที่ต้องยื่นเรื่องผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร) หรือก็คือปีถัดจากที่เราได้รับหมายเรียกนั่นเองค่ะ
การยื่นขอผ่อนผันนี่ สามารถมอบฉันทะให้ญาติ หรือผู้ปกครองไปยื่นแทนได้นะคะ เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องกลับไทยมาทำเรื่องค่ะ
ยื่นขอผ่อนผันที่นายอำเภอที่ลูกเรามีชื่อในทะเบียนบ้านนะคะ โดยเมื่อเสร็จเรื่อง และได้รับอนุมัติแล้ว เราจะได้เอกสาร ชื่อ หนังสือผ่อนผัน หรือ แบบ สด.41 มาเก็บไว้เป็นหลักฐานค่ะ
การผ่อนผันจะสิ้นสุดลงเมื่อ
1. สำเร็จการศึกษาหรือออกจากสถานศึกษานั้น หรือย้ายสถานศึกษา
2. อายุ 26 ปีบริบูรณ์
3. สมัครใจขอยกเลิกการผ่อนผัน
เมื่อการผ่อนผันสิ้นสุด ก็ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ด้วยค่ะ อันนี้ต้องไปด้วยตนเองค่ะ —- ถ้าเรียนจบ หรือพ้นสถานะผ่อนผัน อันนี้ต้องแจ้งนายอำเภอภายใน 30 วัน หลังจากพ้นสถานะค่ะ แต่ถ้าสมัครใจของยกเลิกการผ่อนผัน จะไปแจ้งนายอำเภอทันที หรือจะรอไปแจ้งในวันตรวจเลือกก็ได้ค่ะ
เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว เราจะได้เอกสารมาเรียกว่า ใบรับ (แบบ สด. 10) ค่ะ
การขอยกเว้น
การเป็นทหารได้นั้น ร่างกายและจิตใจต้องแข็งแรงสมบูรณ์พอสมควร ดังนั้นบางคนที่ร่างกายไม่พร้อม ก็สามารถทำเรื่องขอยกเว้นได้ค่ะ โดยทางกองการสัสดีเขาก็ได้กำหนดรายชื่อโรคที่ทำให้ได้รับยกเว้นค่ะ คลิกอ่านได้ที่นี่
ถ้าคุณแม่เห็นว่าลูกเราป่วย อยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ก็สามารถทำเรื่องขอยกเว้นได้ค่ะ โดย ต้องไปตรวจร่างกายที่หนึ่งในโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก 21 แห่งทั่วประเทศ (จะเอาใบรับรองแพทย์ที่ฮอลแลนด์ไปแสดงเพื่อขอยกเว้นไม่ได้ค่ะ!!!) ลูกเราต้องไปให้หมอที่โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกตรวจด้วยตนเอง และจะต้องไปใน ช่วงเดือนตุลาคมของปีก่อนการตรวจเลือก จนถึง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปีที่จะเข้ารับการตรวจเลือกเท่านั้น อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการตรวจร่างกายตรงนี้ เราต้องออกค่าใช้จ่ายเองนะคะ
รายชื่อโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกทั้ง 21 แห่ง คลิกดูได้ในเอกสารนี้ค่ะ (หน้าที่ 2 เป็นต้นไป)
จบจากขั้นตอนการตรวจร่างกายเพื่อขอยกเว้น เราจะได้รับ ใบรับรองแพทย์ มาเก็บไว้เป็นหลักฐานค่ะ เพื่อใช้ในการตรวจเลือกทหารในเดือนเมษายนค่ะ
๓. การตรวจเลือก
คราวนี้ก็มาถึงวันจริงแล้วค่ะ คือเมื่อสิ้นสุดการผ่อนผันแล้ว หรือเรียนจบแล้ว ก็ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารล่ะค่ะ หรือเมื่อทำเรื่องยกเว้นแล้ว คือไปตรวจร่างกายเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือกเช่นกันค่ะ (ถึงจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเป็นทหาร แต่เจ้าหน้าที่สัสดีเขาอยากเห็นตัวจริง เห็นเอกสารจริงๆ น่ะค่ะ)
ปกติการตรวจเลือกทหาร จะกระทำกันในระหว่างวันที่ 1 – 11 เมษายนของทุกปี อันนี้ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือกด้วยตนเองนะคะ มอบอำนาจไม่ได้แล้วค่ะ
ในการตรวจเลือกจะมีการจับสลากใบดำ-ใบแดงค่ะ ถ้าได้ใบดำ ก็จะมีเสียงเฮจากกองเชียร์ค่ะ คือ “ปล่อย” ไม่ต้องเป็นทหาร แต่ถ้าได้ใบแดง ก็ตรงกันข้ามค่ะ คือต้องรับราชการทหาร
เรียนจบเทียบชัั้นอุดมศึกษาจากเมืองนอก(ในสถาบันที่กระทรวงศึกษาธิการไทยรับรอง) –> จับได้ใบแดง —> เป็นทหาร 1 ปีและเขามีการให้สมัครใจเข้ารับราชการทหารด้วยค่ะ สำหรับคนที่ไม่ชอบลุ้น หรือใจอยากเป็นทหารอยู่แล้ว ระยะเวลาที่ต้องรับราชการทหารสำหรับคนที่สมัครก็สั้นกว่าคนที่โดนจับได้ใบแดงกันครึ่งต่อครึ่งเลยค่ะ และสำหรับคนที่เรียนจบจากเมืองนอก ก็สามารถใช้วุฒิการศึกษา เพื่อขอสิทธิในการลดวันรับราชการทหารลงด้วยค่ะ
เรียนจบเทียบชั้นอุดมศึกษาจากเมืองนอก(ในสถาบันที่กระทรวงศึกษาธิการไทยรับรอง) –> สมัครใจรับราชการทหาร —> เป็นทหาร 6 เดือนเมื่อผ่านการตรวจเลือกแล้ว จะได้รับเอกสารที่เรียกว่า ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหาร (แบบ สด. 43) ให้มาเก็บไว้ค่ะ ซึ่งใบนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการสมัครงานที่เมืองไทยได้ค่ะ ว่าเราผ่านการตรวจเลือกแล้ว
แต่ถ้าใครที่จับได้ใบแดง หรือสมัครใจเข้ารับราชการทหาร เมื่อปลดประจำการแล้ว ก็จะกลายเป็นทหารกองหนุน และได้รับเอกสารรับรองจากทางการค่ะ เรียกว่า สมุดประจำตัวและใบสำคัญของทหารกองหนุน (สด.8) ค่ะ
๔. การเรียกกำลังพลของทหารกองหนุน
ทหารกองหนุนมี 3 ประเภทค่ะ
- ทหารกองหนุนประเภท 1 —> โดนเกณฑ์ทหาร จับได้ใบแดง หรือสมัครใจเป็นทหาร พอฝึกครบแล้ว ปลดประจำการเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ค่ะ
- ทหารกองหนุนประเภท 2 –> ไม่โดนเกณฑ์ทหาร จับได้ใบดำ –> จัดเป็นทหารกองเกิน จนอายุ 30 ปี จะถูกปลดไปเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ค่ะ
- ทหารกองหนุนประเภท 3 –> ชายไทยที่อายุ 40 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปค่ะ
ทุกปี ทางการเขาจะมีการสุ่มเรียกกำลังพลสำรองค่ะ โดยคนที่เป็นทหารกองหนุนทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 จะโดนสุ่มเรียกให้ไปเข้ารับการทบทวนการฝึก การเรียกกำลังพลนี้ บางครั้งเรียกเพื่อตรวจสอบ ก็กินเวลาแค่วันเดียวค่ะ บ้างก็เรียกไปทบทวนการฝึกกำลังสำรองเลย อันนี้กินเวลา 2 เดือนค่ะ — แต่ถ้าผู้ถูกเรียกอยู่เมืองนอก สามารถมอบหมายให้ญาติไปยื่นเรื่องที่สัสดีอำเภอเพื่อขอผ่อนผันได้ค่ะ โดยแจ้งเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถมารวมพลได้ตามจดหมายเรียก ควรแจ้งภายหลังจากได้รับจดหมายไม่เกิน 30 วันนะคะ — ถ้าไม่ไปและไม่แจ้งต่อทางการถือว่ามีความผิดนะคะ
ชายไทยจะหมดภาระการเป็นทหาร (ปลดประจำการ) เมื่ออายุ 46 ปี
กิติกรรมประกาศ
๑. ขอบคุณวิทยากรจากสำนักงานอัยการสูงสุดที่มาบรรยายให้ความรู้ และสมาคมสยามที่จัดงานดีๆ ในครั้งนี้ขึ้นค่
๒. ขอบคุณพระ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของวัดพระพุทธวิหาร อัมสเตอร์ดัมค่ะ สถานที่จัดงาน และมีเลี้ยงอาหารกลางวันอร่อยๆ แก่ผู้ร่วมงานอบรมด้วยค่ะ — นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังอิ่มท้องอีกด้วย
๓. รูปภาพสวยๆ ที่ใช้ในบทความชิ้นนี้ ถ่ายโดยพี่ปู สุกานดา ศรีเสน่ห์พร ค่ะ ขอบคุณพี่ปูด้วยค่ะ
เอกสารอ้างอิง และลิงก์ที่น่าสนใจ
๑. “ข้อควรรู้ของคนไทยในต่างแดน เรื่อง ที่ดิน บุตร และการเกณฑ์ทหาร”, สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด, ๒๕๕๙
๒. http://sassadee.rta.mi.th/ –> เป็นเว็บไซต์ของกองการสัสดี โดยตรงเลยค่ะ มีทุกเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร
๓. http://www.thaiembassy.org/hague/th/services/62229-Military-Service-Postponement.html —> เว็บไซต์ของสถานทูตไทย ณ กรุงเฮก ค่ะ เรื่องเอกสารที่ต้องใช้ในการทำเรื่องขอผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร ในกรณีที่ผู้ร้องกำลังเรียนอยู่ ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์
๔. https://sac.kku.ac.th/servicesac/mddata/8.pdf –> อันนี้เป็นโบรชัวร์ สรุปเอกสารที่ต้องใช้ คุณสมบัติต่างๆ ในขั้นตอนต่างๆ ของการเกณฑ์ทหารค่ะ สรุปได้สั้น กระชับดีมากเลยค่ะ