เวอร์ชั่นเป็นวิชาการอยู่นี่ค่ะ ข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน และสัญญาก่อนแต่งงาน (Samenlevingscontract & Huwelijkse voorwaarden)
สืบเนื่องจากพี่ที่สมาคมล่ามและนักแปลไทย-ดัตช์ บอกให้หาข้อมูลและเขียนบทความเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาก่อนแต่งงาน สัญญาก่อนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ และสัญญาการอยู่ร่วมกัน ออยก็เลยได้รับความรู้จากการค้นคว้าครั้งนี้มามากเลยทีเดียวค่ะ แต่ขัดใจตรงที่พี่เขาให้เขียนเเบบวิชาการ จะใส่สี ใส่ไข่อะไรก็ไม่ได้ …ก็เลยเป็นที่มาของ blog ส่วนตัวเรื่องนี้แหละค่ะ จะมาขยายสิ่งที่เขียนไป อธิบายเเบบภาษาง่ายๆ ใส่อารมณ์นิดๆหน่อยๆ พองาม…
อีกเหตุผลที่ทำให้ออยสนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ ก็เพราะออยเคยอ่านในเวปพันทิปค่ะ หลายๆ คนต่อต้านการเซ็นสัญญาก่อนสมรสอย่างมาก แม้กระทั่งตัวออยเอง ตอนก่อนแต่งงาน ทนายความนิติกรรมยังบอกเลยว่า ผู้หญิงเอเชียมักจะต่อต้านเรื่องนี้ เขาเลยต้องขอสัมภาษณ์เพื่อให้มั่นใจว่าออยเห็นด้วยกับการเซ็นสัญญาก่อนแต่งงานตัวนี้…ยิ่งทำให้อยากรู้ค่ะ ว่ามันมีข้อดี หรือข้อเสียอย่างไร ทำไมคนดัตช์อยากให้เซ็น บางคู่ถ้าไม่เซ็นนี่ไม่แต่งนะคะ…สังเกตสิคะ คู่คนดัตช์ไม่ค่อยมีใครจะแต่งงานกันง่ายๆ บางคู่อยู่ด้วยกันจนลูกโตแล้ว ยังไม่ได้แต่งงานกันเลย ยิ่งถ้าคู่ไหน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเคยแต่งและหย่ามาแล้วนะคะ โอกาสที่จะแต่งงานภายใต้กฎหมายฮอลแลนด์ซ้ำเป็นครั้งที่สอง สาม ยิ่งยากกกก ทวีคูณเลยค่ะ
เริ่มด้วยว่า การอยู่ร่วมกันของคู่รักในประเทศเนเธอร์แลนด์ แบ่งได้เป็น 3 แบบใหญ่ค่ะ คือ
- samenwonen คือการอยู่ร่วมกัน แต่ของดัตช์ คนเขารอบคอบไงคะ ดังนั้น samenwonen จึงมีสองแบบ แบบแรก 1) คือย้ายมาอยู่ด้วยกันเฉยๆ เหมือนบ้านเรา เป็นแฟนกันแล้วก็ย้ายมาอยู่ด้วยกันน่ะค่ะ กับอีกแบบ 2) คือ มีสัญญาเป็นเรื่องเป็นราว แบบแบ่งกันไปเลยว่า ใครจะออกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า อะไรทำนองนี้ สามารถเขียนกันเองได้นะคะ แต่ถ้าให้จริงจังขึ้นมาหน่อย คือทำเป็นสัญญาโดยทนายความนิติกรรม (Notaris) เลยค่ะ เรียกว่า “Samenlevingscontract” สัญญานี้จะระบุไปถึงเรื่องเงินบำนาญเกษียณอายุด้วย (ถ้าออยเข้าใจไม่ผิด หมายความว่า ถ้าไม่มีสัญญาตัวนี้ ถ้าแฟนเราเสียชีวิตไป เราจะไม่ได้รับเงินบำนาญตัวนี้) โดยเฉพาะถ้าจะซื้อบ้าน หรือกู้ร่วม หรือทำธุรกรรมร่วม จะต้องมีสัญญา samenlevingscontract แบบทำผ่านทนายนิติกรรมนี้ค่ะ
- การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ มีสองแบบค่ะ คือ 1) แบบมีสัญญาก่อนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ เรียกเป็นภาษาดัตช์ว่า“Partnerschapsvoorwaarden” กับ 2) แบบไม่มีสัญญาก่อนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์
- การแต่งงาน ก็เช่นเดียวกันค่ะ มีสองเเบบ คือ 1) แบบมีสัญญาก่อนแต่งงาน เรียกว่า“Huwelijkse Voorwaarden” กับ 2) แบบไม่มีสัญญาก่อนแต่งงาน
คราวนี้มาดูเทียบกับบ้านเราบ้าง…
samenwonen เทียบกับบ้านเราก็เหมือนการอยู่ร่วมกันปกติ คือคนรักกัน มาอยู่ด้วยกันในบ้านเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่บ้านเราจะไม่มีการทำสัญญาการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นทางการเเบบของดัตช์เขาน่ะค่ะ สัญญา “Samenlevingscontract” ไม่จำเป็นต้องทำระหว่างคู่รักกันเท่านั้นนะคะ เพื่อนกันหลายๆ คนเช่าบ้านอยู่ร่วมกัน ก็ทำสัญญาตัวนี้ด้วยกันได้ค่ะ
คู่ของ samenwonen นี้ไม่นับเป็นทายาท หรือคนในครอบครัวนะคะ ไม่มีสิทธิใช้นามสกุลของอีกฝ่าย และถ้าอีกฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต มรดกของผู้เสียชีวิตจะตกไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิต ไม่ใช่คู่ samenwonen ค่ะ ยกเว้นแต่ว่าได้ทำพินัยกรรมไว้ต่างหากค่ะ
การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ..อันนี้บ้านเราไม่มีค่ะ การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ จริงๆ แล้วในทางกฎหมายดัตช์ (เกือบ) จะไม่มีความแตกต่างจากการแต่งงานเลยค่ะ ต่างกันสำคัญๆ ก็ตอนพิธีแต่งงาน คือถ้าแต่งงาน คู่บ่าว-สาวต้องพูดรับอีกฝ่ายเป็นสามี-ภรรยา (เรียกว่า “ja-woord” เหมือนในหนังฝรั่งน่ะคะ ที่มีพิธีกรหรือบาทหลวงพูดว่า “คุณจะยอมรับ…….เป็น สามี/ภรรยา และจะอยู่ด้วยกันไปจนกว่าจะแก่เฒ่าหรือไม่”) คือการแต่งงานบังคับว่า พิธีการนี้ต้องมี แต่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์ไม่ได้บังคับค่ะ จะมีหรือไม่ก็ได้
ข้อแตกต่างอีกอย่างของการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์กับการแต่งงานคือ การแต่งงานสามารถแยกกันอยู่ได้ คือแบบแต่งกันไปแล้ว นานๆ เข้าเกิดไม่รักกันแล้ว แต่หย่าไม่ได้ เพราะว่าติดเรื่องสมบัติ หรือติดเรื่องศาสนา ก็แยกกันอยู่ ภาษาดัตช์เรียก Scheiding van tafel en bed อันนี้ถ้าแต่งงานทำได้ค่ะ แต่ถ้าจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ทำไม่ได้ เลิกคือเลิก
แล้วถ้าจะเลิกกัน สมมุติว่าตกลงกันได้ด้วยดี และทั้งคู่ไม่มีลูกที่อายุต่ำกว่า 18 ปีด้วยกัน คู่ที่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์สามารถทำเรื่องหย่ากันเองได้นอกศาลได้เลยค่ะ หากแต่คู่แต่งงาน ถ้าจะเลิกกัน ต้องได้รับการอนุมัติจากศาลก่อนเท่านั้น ถึงจะสามารถหย่าร้างกันได้อย่างเป็นทางการ (อันนี้แค่เสียเวลา + เงินเพิ่มขึ้นน่ะค่ะ ศาลท่านคงไม่ขัดขวางไม่ให้เลิกกันหรอก หากทั้งคู่ตกลงกันได้ และไม่มีลูกเล็กๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากกการหย่า)
อนึ่งค่ะ ถ้าคู่ไหนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์แล้ว และอยากเปลี่ยนไปเป็นการแต่งงาน สามารถทำได้ค่ะ แต่หากคู่ไหนแต่งงานแล้ว เกิดอยากเปลี่ยนเป็นจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ..ไม่สามารถทำได้ค่ะ …จึงพอสรุปได้ว่า ศักดิ์และศรีของการแต่งงานอยู่สูงกว่าการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ (นิดหน่อย)
เนื่องจากการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ กฎหมายไทยยังไม่รองรับ ดังนั้นคู่พาร์ทเนอร์หากเกิดอยากขอวีซ่าคู่สมรสย้ายมาอยู่เมืองไทยระยะยาวก็จะทำไม่ได้ค่ะ (หากต่างชาติ อายุเกิน 55 ปี อาจเปลี่ยนไปขอเป็นวีซ่าเกษียณอายุแทนได้ค่ะ)
ส่วนการแต่งงาน…เทียบเท่ากับการแต่งงานจดทะเบียนสมรสของเมืองไทยค่ะ (ยกเว้นการแต่งงานในคู่รักเพศเดียวกันนะคะ ที่กฎหมายไทยยังไม่รองรับ) ส่วนการแต่งงานของบางคู่เมืองไทย ที่มีการจัดงานแต่ง เลี้ยงแขกใหญ่โต แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส อันนี้จะเทียบเท่ากับ samenwonen ของดัตช์เขานะคะ
แล้วทำไมต้องมีสัญญาก่อนแต่ง หรือสัญญาก่อนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์
เนื่องจากกฎหมายสินสมรสของดัตช์ไม่เหมือนเมืองไทยค่ะ
เมืองไทย ทรัพย์สิน หนี้สินที่แต่ละฝ่ายมีมาก่อนจดทะเบียนสมรส ถือว่าเป็นสินส่วนตัว หลังจากแต่งงานจดทะเบียนสมรสไปแล้ว ทรัพย์สิน หนี้สินที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็น “สินสมรส” เลิกกันก็จับสินสมรสนี้มาหารคนละครึ่ง สมมุติว่า ผู้ชายมีบ้าน มีรถ มาก่อนแต่งงาน พอแต่งไปแล้ว มีเงินงอกมาหนึ่งล้านบาท … เกิดจะเลิกกัน ก็หารครึ่งแค่หนึ่งล้านที่เพิ่มขึ้นมาภายหลังการจดทะเบียนสมรส ส่วน บ้าน รถ ยังเป็นของฝ่ายชายเช่นเดิม
เนเธอร์แลนด์ กฎหมายมีหลักมาจากศาสนาค่ะ เขาเห็นว่า การแต่งงานคือการร่วมทุกข์ร่วมสุข ทุกสิ่งทุกอย่างต้องแชร์กัน ดังนั้นถ้าไม่ได้เซ็นต์สัญญาก่อนสมรส ก็จะเรียกว่าเป็นการแต่งงาน หรือการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ แบบ Gemeenschap van goederen เมื่อแต่งงานหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์กัน สมบัติและหนี้สินที่แต่ละฝ่ายมี ก็นำมารวมกัน เรียกว่า “สินสมรส”
และเมื่อจะเลิกกัน ก็ต้องนำ “สินสมรส” นั้นมาจับหารคนละครึ่ง รับผิดชอบกันไปคนละครึ่ง…ปัญหามันคือความไม่ยุติธรรมไงคะ คือมันไม่แฟร์ ถ้าผู้ชายมีหนี้ก่อนแต่งเยอะๆ พอเลิกกะเรา หนี้เขาก็ลดไปครึ่งหนึ่งเลย และครึ่งนั้นก็เป็นของเรา เราต้องทำงานใช้หนี้ให้เขา ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ก่อหนี้นั้นเลย …แต่มันจะได้เปรียบ ถ้าผู้ชายมีสมบัติเยอะๆ มีทรัพย์สิน (ที่ไม่ได้มาจากมรดก หรือเงินบริจาคนะคะ) ถ้าเลิกกัน เราก็จะได้สมบัติเขาครึ่งหนึ่งเลย …แต่คนรวยด้วยตัวเองเเบบนี้ มักจะไม่โง่ค่ะ …
หรือบางกรณี หลังจากจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์กันแล้ว และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีธุรกิจส่วนตัว เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งอาจต้องมีการกู้ยืม หรือจัดการกับเงินรับ-รายจ่าย ถ้าไม่มีสัญญาก่อนสมรส ก็จะไม่คล่องตัวเป็นอย่างมากค่ะ เพราะต้องให้อีกฝ่ายยินยอมก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ
ปัญหาดราม่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะตอนจะเลิกกันเท่านั้นนะคะ ตอนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต และเงินส่วนแบ่งมรดกก็มีผลกระทบด้วยค่ะ (รายละเอียดเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะค่ะ ไว้เขียนถึงภายหลังนะคะ)
มีเคสศึกษาของหญิงไทย ทีแต่งงานกับคนดัตช์แล้วได้รับผลกระทบจากกฎหมายสินสมรส แบบ Gemeenschap van goederen นี้ค่ะ อย่างพี่ที่ออยรู้จัก เขาเล่าให้ฟังว่า ในช่วงเวลาที่แต่งงานอยู่ด้วยกัน สามีกู้เงินเพื่อเรียนต่อ ตอนเลิกกัน เธอ (หญิงไทย) ต้องรับภาระหนี้กู้ยืมเรียนของสามีด้วยครึ่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนเรียนต่อ
หรืออีกกรณี หญิงไทยแต่งงานกับคนดัตช์ และมีรายได้จากการทำความสะอาด แต่จ่ายเเบบเงินดำ (คือไม่เสียภาษี) เธอนำเงินที่ได้นี้ไปซื้อที่ดินที่เมืองไทย (สามีทราบค่ะว่าเธอซื้อที่ดิน) พอตอนจะเลิกกัน สามีฟ้องหย่า ขอค่าส่วนแบ่งในที่ดินนี้ครึ่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเธอไม่มีรายได้ (มีรายได้แต่ไม่เสียภาษี ถือว่าไม่มีรายได้ทางกฎหมาย) ทั้งๆ ที่ดินนั้นมีชื่อเธอเป็นเจ้าของ ซื้อมาจากน้ำพักน้ำแรงของเธอ
สรุป ความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ เพื่อป้องกันปัญหาดราม่าทางกฎหมาย แนะนำให้สาวไทยเซ็นสัญญาก่อนสมรส หรือสัญญาก่อนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ค่ะ คือตอนเราแต่งงานกับสามีเรา เราก็ไม่ได้หวังสมบัติ หวังเงินหวังทองอะไรจากเขาใช่ไหมคะ แต่เราก็ไม่ได้หวังด้วยว่า เลิกกันไปแล้ว เราต้องมาชดใช้หนี้ที่เราไม่ก่อกับเขาด้วย … จากคู่ที่เคยรักกัน ตอนหย่ากันนี่ สงครามดีๆ นี่เองค่ะ ใช้วิธีสกปรกได้ทุกวิธี
ส่วนการเซ็นสัญญาก่อนสมรส หรือสัญญาก่อนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ สามารถกระทำได้โดยผ่านทนายความนิติกรรม (Notaris) ค่ะ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงสักหน่อย (ประมาณหนึ่งพันยูโร ไม่ควรเกินนี้ – อันนี้ยังไม่ได้รวมค่าล่าม และค่าแปลเอกสารนะคะ) …
เพิ่มเติมเรื่องที่ควรระวังค่ะ เนื่องจากสัญญาที่เซ็นกับทนายความนิติกรรม จะมีผลผูกพันตามกฎหมายตามมา ดังนั้นก่อนเซ็นอะไรก็ดี ควรทำการศึกษา ทำความเข้าใจกับเนื้อหาในสัญญานั่นให้ดีก่อนนะคะ หากภาษาดัตช์หรือภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ยอมลงทุนจ้างนักแปลสาบานตน ให้แปลเอกสารนั้นให้เป็นภาษาไทย หรือเป็นล่ามให้ในวันเซ็นสัญญาดีกว่าค่ะ อย่าให้เกิดเหมือนดังสุภาษิตที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย เลยค่ะ
เช่น เคยมีกรณีศึกษา ที่ออยได้ยินมาน่ะค่ะ หญิงไทยแต่งงานกับคนดัตช์ และเซ็นสัญญาก่อนสมรส (สัญญาเป็นภาษาดัตช์ ไม่มีการแปล สรุปคือ เธอเซ็นไปโดยไม่รู้ว่าเซ็นเรื่องอะไร) ต่อมาฝ่ายสามีเสียชีวิต เนื่องด้วยสัญญาก่อนสมรสฉบับนั้น ทำให้เธอได้เปรียบในกองมรดก ฝ่ายทายาทที่เสียเปรียบ (ลูกติดสามี) ก็ใช้เรื่องที่เธอเซ็นสัญญาไปโดยไม่เข้าใจภาษา มาเป็นข้ออ้างในการฟ้องศาล ให้เธอไม่มีสิทธิในกองมรดก !!! …ฟังเเล้วดราม่ามากเลยค่ะ — (เป็นความโชคร้ายของเธอมาก เพราะปกติทนายความนิติกรรมที่มีจรรยาบรรณ จะไม่เขียนสัญญาให้ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เข้าใจข้อความในสัญญาเด็ดขาด)
ข้อความนี้มีประโยชน์มหาศาลเลยขอให้ผู้ที่เจียนไว้
ทำขึ้นอีกหลายๆเรื่องนะคะขอบคุณค่ะ