คำแนะนำหญิงไทย เมื่อโดนแฟนทำร้ายในเนเธอร์แลนด์

โดนแฟนทำร้าย : นิยามของความรุนแรงในครอบครัว

ความรุนแรงในครอบครัว คือ การที่คนในครอบครัวกระทำการใดๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ สุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ สุขภาพแก่อีกคนในครอบครัว หรือการบังคับ ใช้อำนาจบังคับให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ หรือไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมิได้สมัครใจ

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีอยู่ทุกที่แหละค่ะ และจริงๆ แล้วปัญหานี้ใกล้ตัวกว่าที่คิด คนที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว อาจจะคือคนใกล้ตัว เพื่อนคนไทยของเราเอง – เพียงแต่เราไม่รู้ เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนตัวค่ะ ซึ่งโดยทั่วไป ผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวที่ต่อเนื่องยาวนาน จะทำให้เหยื่อสูญเสียความมั่นใจ โทษว่าทั้งหมดเป็นความผิดของตัวเอง จึงทำให้ไม่กล้าบอก หรือปรึกษาเรื่องนี้กับใคร

บทความนี้ต้องการที่จะเผยแพร่ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้มากที่สุดค่ะ แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะชี้แนะใดๆ ทั้งสิ้น – การตัดสินใจที่จะอยู่ หรือออกมาจากปัญหา เป็นการตัดสินใจเฉพาะตัวของแต่ละคนค่ะ — เพียงแต่หากวันใดที่คิดจะออกมาจากสถานการณ์ของการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนี้ อย่างน้อยบทความนี้คือข้อมูลประกอบการตัดสินใจค่ะ

Partnergeweld : ความหมาย

มากกว่า 60% ของความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากคู่ครองเป็นผู้กระทำต่ออีกฝ่ายค่ะ ทั้งคู่ครองที่ยังอยู่ด้วยกัน หรืออดีตคู่รักที่เลิกกันแล้ว แต่อีกฝ่ายไม่ยอมเลิกง่ายๆ — ความรุนแรงนี้มักจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ เช่นทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจ ทางเพศ หรือทางเศรษฐกิจ

มีงานวิจัยของเนเธอร์แลนด์ระบุว่า 12% ของประชากรทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำรุนแรงในครอบครัวค่ะ เหยื่อในกลุ่มนี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายค่ะ — ผู้ชายเองก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของหญิงคู่ครองอารมณ์ร้ายเช่นกันค่ะ เหยื่อที่เป็นชายมีประมาณ 7% ในขณะที่เหยื่อที่เป็นหญิงมีอยู่ประมาณ 16% ความรุนแรงในครอบครัวนี้ งานวิจัยพบว่า ไม่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติค่ะ คือเป็นคนดัตช์แท้ๆ หรือเป็นคนไทยย้ายมาอยู่ไม่มีนัยยะแตกต่างกันค่ะ

เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจะถูกทำให้รู้สึกอับอาย ด้อยค่า
เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจะถูกพูดกรอกหูโดยผู้กระทำ ด้วยคำพูดที่ทำให้รู้สึกอ่อนแอ อับอาย ด้อยค่า โง่ ไม่มีใครเอา — ซึ่งคำพูดเหล่านี้นานวันเข้าจะฝังลึกทำให้เหยื่อเชื่อว่าตนเองเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ประเภทของ Partnergeweld

1. การกระทำรุนแรงทางด้านจิตใจ หรือการทำร้ายจิตใจ (Psychologisch geweld) เช่น แสดงความรุนแรงด้วยวาจา ด่าว่า ขู่ฆ่า ขู่ฆ่าคนในครอบครัวของเหยื่อ ทำลายข้าวของส่วนตัวของเหยื่อ จำกัดเสรีภาพ หรือความเป็นส่วนตัวของเหยื่อ ทำร้ายหรือฆ่าสัตว์เลี้ยงเพื่อแสดงอำนาจและทำร้ายจิตใจของเหยื่อ

2. การคุกคาม ติดตาม ตามรังควาน (Belaging หรือ stalking) เช่น แอบตาม คอยตรวจเช็คเรื่องส่วนตัวว่า ไปไหน ทำอะไร ตรวจเช็คมือถือเราว่าติดต่อกับใครบ้าง บางคนถึงขั้นแอบอัดเสียงในมือถือ หรือใช้แทร็กจีพีเอสในมือถือติดตาม เช็คเฟสบุ๊ก เช็คข้อความส่วนตัวในมือถือเป็นต้น การกระทำเช่นนี้ ทำให้เหยื่อเกิดความหวั่นระแวง หวาดกลัว เสียสุขภาพจิต – อันนี้สาวไทยก็ต้องระวังนะคะ วัฒนธรรมไทยกับดัตช์ไม่เหมือนกันในเรื่องนี้ ที่เมืองไทยอาจเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงบางคนขี้หึงหน่อย หรือระแวงแฟน ก็แอบเช็คมือถือ หรืออีเมล์ส่วนตัวของแฟน – ที่เนเธอร์แลนด์ถือว่าเป็นการคุกคามความเป็นส่วนตัวค่ะ

3. การกระทำรุนแรงทางด้านร่างกาย (Fysiek geweld) เช่น ทุบตี ทำร้ายร่างกาย ดึงผม กัด จิก ผลักตกบันไดหรือที่สูง สรุปคืออะไรก็ได้ที่ทำให้เจ็บตัวน่ะค่ะ

4. ความรุนแรงทางเพศ (Seksueel geweld) เช่น ข่มขืน บังคับให้ทำกิจกรรมทางเพศทั้งที่ไม่ยินยอม บังคับให้มีเซ็กส์กับคนอื่น หรือให้คนอื่นมาดูการร่วมเพศ หรือบังคับให้ดูหนังโป๊ และการคุกคามนี้รวมถึงการบังคับให้ทำแท้งทั้งที่ไม่ยินยอมด้วยค่ะ

5 การคุกคามทางด้านการเงิน  (Financieel geweld) เช่น ห้ามไม่ให้คู่ครองออกไปทำงานหาเงิน ให้อยู่แต่กับบ้าน แล้วก็ไม่ให้เงินไว้ใช้จ่ายติดบ้าน หรือควบคุมการใช้จ่าย (ทั้งๆที่เป็นรายได้ที่อีกฝ่ายหามาเอง) หรืออ้างสิทธิ์ในรายได้ของอีกฝ่าย หรือขโมยเงินของอีกฝ่าย หรือขายสินทรัพย์ของอีกฝ่ายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ

ทำไมต้องทน ? – วงจรความรุนแรงในครอบครัว

การกระทำความรุนแรง มักจะเริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆค่ะ เช่น มีการขึ้นเสียง ตะคอกใส่เมื่อไม่ถูกใจ จำกัดการใช้เงินในบ้าน ฯลฯ แล้วหลังจากนั้นความรุนแรงจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นค่ะ แต่ทั้งผู้กระทำและเหยื่อมักจะหาเหตุผลแก้ตัวต่อการกระทำนั้น ทำให้ทั้งคู่ต่างไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ – เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้คนนอกสงสัยว่าทำไมเหยื่อจึงอดทนอยู่ได้เป็นปีๆ ค่ะ

วงจรความรุนแรงในครอบครัว และทางออก
วงจรความรุนแรงในครอบครัว และทางออก

ความรุนแรงในครอบครัวจะมีวงจรของมันอยู่ค่ะ ซึ่งทำให้เหยื่อสามารถที่จะทนอยู่ในสถานการณ์ที่คนนอกยากจะเข้าใจได้

ระดับที่ 1 – บรรยากาศตึงเครียด (Klimaat van spanning) ผู้กระทำความรุนแรงจะสร้างความเครียด กดดันในบ้านแก่เหยื่อ เช่น โดยการพูด การตำหนิ การกล่าวโทษว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของเหยื่อ ในขั้นนี้ เหยื่อจะรู้สึกกลัว ระแวดระวัง และจะพยายามทำตามที่สั่งทุกอย่างเพื่อไม่ให้ผู้กระทำโกรธไปมากกว่านี้

ระดับที่ 2 – เกิดความรุนแรง หรือจุดระเบิด (Uitbarsting van geweld) ผู้กระทำจะค้นพบว่าเหยื่อไม่ทำตามที่ต้องการ หรือไม่ได้มาตรฐานตามที่ต้องการ และความรุนแรงจึงเกิดขึ้น อาจมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น – เหยื่อนอกจากจะเจ็บตัวแล้ว ยังรู้สึกอาย เสียใจ สูญเสียความมั่นใจ เศร้า ด้อยค่ารู้สึกผิดที่ทำไม่ได้ตามที่ผู้กระทำสั่ง

ระดับที่ 3 – หาเหตุผลมาหักล้างการกระทำ (Rechtvaardiging) ผู้กระทำความผิดจะเริ่มลดพฤติกรรมก้าวร้าวของเขาลงค่ะ และปลอบเหยื่อ แต่เป็นปลอบในเชิงโทษเหยื่อ โยนว่าทั้งหมดนี่คือความผิดของเหยื่อ ประมาณว่า เธอไม่ควรทำให้ฉันโมโห เธอสมควรได้รับการลงโทษแล้ว ฯลฯ – เหยื่อเองจะใจอ่อน และรู้สึกยอมรับข้ออ้างของผู้กระทำค่ะ และเห็นด้วยว่าตนเองผิดจริง บกพร่องในหน้าที่จริงๆ และคิดว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงในครั้งต่อไปได้ ถ้าไม่กระทำสิ่งที่ผู้กระทำไม่ต้องการอีก และก็คิดว่าผู้กระทำจะเปลี่ยนพฤติกรรม

ระดับที่ 4 – ช่วงฮันนีมูน (Wittebroodsweken) มีความสงบในบ้าน ผู้กระทำขอโทษขอโพย สัญญิงสัญญา ร้องห่มร้องไห้ว่าจะไม่ทำร้ายเหยื่ออีก ที่ทำไปก็เพราะรักนะ รักมากๆๆ ประมาณนั้น – ตัวเหยื่อเองก็มีความสุขค่ะ ชีวิตครอบครัวหวานชื่นเหมือนคู่รักใหม่ – แต่เหมือนระเบิดเวลาน่ะค่ะ รอจนกระทั่งมีเรื่องที่ผู้กระทำไม่ได้ดั่งใจ แล้ววงจรก็จะกลับมาระดับที่ 1 อีกครั้ง

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับเหยื่อก็จะวนเวียนอยู่ในวงจรนี้ล่ะค่ะ มีทั้งรักหวานชื่น และขมขื่นในบางเวลาสลับกันไป — ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจที่จะออกจากวงจรความรุนแรงนี้ จึงต้องใช้ความเข้มแข็ง และพลังใจอย่างมากค่ะ

ผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว

มีมากมายค่ะ – รวมถึงการมีภาวะซึมเศร้าของเหยื่อ โรควิตกกังวล ความเครียด ความหวาดกลัวหวาดระแวง และอาจเลยเถิดจนถึงขั้นใช้ของมึนเมา หรือยาเสพติดเป็นทางออก

ผลกระทบต่อเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ใช้ความรุนแรงก็มีนะคะ เด็ก ๆ เสียสุขภาพจิต และที่สำคัญเลยค่ะ เด็กที่โตมาจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง จะกลายเป็นผู้ก่อความรุนแรงเสียเองเมื่อโตขึ้น – คงเพราะความรุนแรงคือวิธีการแก้ปัญหาเดียวที่เขาเห็นจากครอบครัวกระมั่งค่ะ

ตัวอย่างของคนที่เติบโตมาจากครอบครัวที่พ่อใช้ความรุนแรงกับแม่ คือ Willem Holleeder ค่ะ กลายเป็นอาชญากรที่ก่อคดีมากมาย ตั้งแต่ลักพาตัว กรรโชกทรัพย์ ไปจนถึงเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม

ควรทำอย่างไรเมื่อต้องประสบกับความรุนแรงในครอบครัว

อารมณ์โกรธเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอค่ะ แต่ถ้าหากความโกรธนั้นเกินไปจนถึงกระทั่งทำร้ายร่างกาย หรือล่วงละเมิดคนในครอบครัว อันนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ค่ะ – ซึ่งมันจะมีจุดอยู่จุดหนึ่งค่ะ ที่เหยื่อรู้สึกว่า ไม่ไหวแล้ว และต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อยุติความรุนแรงนี้

เมื่อหญิงไทยเป็นฝ่ายถูกทุบตี ได้รับความรุนแรงทางด้านร่างกายจากคู่ครอง อย่าหยิบหรือถือมีดเด็ดขาด! ถ้ากลัวให้วิ่งไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน หรือโทร 112 เรียกตำรวจ อย่าเอามีดมาขู่เด็ดขาด! — มิเช่นนั้น เรื่องจะกลับตาลปัตรเป็นว่า เราหญิงไทยเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง เพราะเราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และหยิบอาวุธมาสู้ – กลายเป็นว่าเราเองที่ต้องถูกตำรวจพาไปสงบสติอารมณ์ในคุก

คำแนะนำคือ

    • ปรึกษาใครสักคนที่ไว้ใจได้ค่ะ – อาจจะเป็นเพื่อน เพื่อนบ้าน หรือคนอื่นๆ ในครอบครัว – การพูดปัญหาออกมากับคนที่ไว้ใจเป็นเหมือนการเริ่มต้นค่ะ เพราะถ้าทนได้ เราจะไม่พูดเรื่องไม่ดีในบ้านออกมาให้ใครฟังใช่ไหมล่ะคะ การเล่าปรึกษาคนที่เราไว้ใจ ทำให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ไม่ได้อยู่คนเดียวค่ะ แต่ถ้าไม่มีใครพอไว้ใจได้ให้ปรึกษาจริงๆ — ข้ามไปข้อถัดไปเลยค่ะ ติ๊ต่างว่าปรึกษา #Dutchthingy แล้ว และนี่คือคำแนะนำของเราค่ะ
      คำแนะนำสำหรับผู้รับฟังค่ะ – อย่าไปตัดสินใจแทนเพื่อนค่ะ อยู่เคียงข้าง ฟังและแนะนำให้เพื่อนไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญ ปัญหาในครอบครัวเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าคนนอกที่ไม่ได้รับการอบรมมาอย่างเราจะเข้าใจค่ะ – และเราต้องเคารพการตัดสินใจของเพื่อนด้วยค่ะ ถ้าเขาตัดสินใจที่จะกลับไปหาคนที่ทำร้าย ก็อย่าโจมตีเขา หรือเลิกคบ ความรุนแรงในครอบครัวมันมีวงจรของมัน การหลุดออกจากตรงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ

 

    • ติดต่อขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากหน่วยงาน (Veilig Thuis) – เนเธอร์แลนด์มีหน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญและบ้านพักฉุกเฉิน (Opvang) คอยให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อที่ประสบปัญหาอยู่ทั่วประเทศเลยค่ะ – คือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กที่เนเธอร์แลนด์ค่ะ แต่ละปีมีคนดัตช์เองทีตกเป็นเหยื่อของการกระทำการรุนแรงในครอบครัวเป็นจำนวนมากเช่นกันค่ะสามารถโทรหา Veilig Thuis เพื่อแจ้งเหตุหรือขอคำแนะนำเบื้องต้นได้ที่หมายเลข 0800-2000 โทรฟรีทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงค่ะส่วนข้อมูลบ้านพักฉุกเฉิน หรือหน่วยงานช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวใกล้บ้าน สามารถเสิร์จหาดูได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ https://www.huiselijkgeweld.nl/organisaties หรือสอบถามได้ที่ Veilig Thuis ค่ะ
พูดภาษาดัตช์ไม่คล่อง ไม่ใช่ปัญหาค่ะ บอกในโทรศัพท์หมายเลข 0800-2000 เลยค่ะ ว่าขอล่ามภาษาไทย
  • ในกรณีฉุกเฉิน โทร 112 เรียกตำรวจค่ะ (เฉพาะกรณีฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้นนะคะ)

ศูนย์ช่วยเหลือแก่เหยื่อที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว

ปัญหาบางอย่าง ใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ได้ด้วยตัวเองค่ะ ต้องขอแรงสนับสนุนจากข้างนอก – เนเธอร์แลนด์มีหน่วยงานหลายหน่วยเลยค่ะ ที่คอยให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว แนะนำให้เลือกหน่วยงานใกล้บ้านที่เว็บไซต์นี้ค่ะ https://www.huiselijkgeweld.nl/organisaties

หน่วยงานเหล่านี้มีผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้ความช่วยเหลือ และรับฟังปัญหาค่ะ ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เราหญิงไทยที่โดนคนรักกระทำค่ะ ผู้หญิงชาติไหนๆ ก็มีสิทธิ์โดนคนรักทำร้ายร่างกายเช่นกันค่ะ ไม่ได้เกี่ยวที่เชื้อชาติ — หน่วยงานที่ทำด้านนี้ที่มีชื่อเสียงที่คนดัตช์รู้จักกันดีคือ Blijf van m’n Lijfhuis ค่ะ (เว็บไซต์คือ  https://www.neos.nl/)

โดนแฟนทำร้าย ขอความช่วยเหลือที่ Veilig Thuis โทรเลย 0800-2000 โทรฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง พูดดัตช์ไม่คล่อง บอกเลย ขอล่ามภาษาไทย!

ผลกระทบต่อการอาศัยอยู่ต่อที่เนเธอร์แลนด์

หนึ่งในเหตุผลที่หญิงไทยไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งๆ ที่ความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในระดับที่เหยื่อไม่สามารถทนได้อีกต่อไปแล้ว นั่นคือ กลัวว่าทางการจะส่งตัวกลับไทยค่ะ โดยเฉพาะหญิงไทยที่เพิ่งมาอยู่ และยังไม่ได้รับสัญชาติดัตช์ หรือยังไม่ได้ถือบัตรต่างด้าวแบบถาวร  — ซึ่งในกรณีนี้ มีทางออกค่ะ

หากถือบัตรต่างด้าว (verblijfsvergunning ) แบบมีอายุไม่เกิน 5 ปี และในบัตรมีชื่อคู่ครองเป็นคนการันตี — กรณีนี้เช่น หญิงไทยที่ย้ายตามคนรักมาอยู่เนเธอร์แลนด์ใหม่ๆ ค่ะ ช่วงแรกเราจะได้รับบัตรต่างด้าวแบบไม่ถาวร มีวันหมดอายุ – แต่หากเกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้น ซึ่งคนรัก หรืออดีตคนรักผู้ซึ่งเป็นคนการันตีเรามาอยู่ที่นี้เป็นผู้กระทำ มีความเป็นไปได้ค่ะ ที่เราจะสามารถขอบัตรต่างด้าวแบบถาวร เรียกว่า verblijfsvergunning humanitair niet tijdelijk ได้ค่ะ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นจริง และเราเป็นเหยื่อ หลักฐานที่ใช้ได้แก่

เอกสารจากตำรวจหรือจากสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ระบุว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านจริง เอกสารนี้ได้แก่

– ใบแจ้งความจากตำรวจ หรือ

– ใบรับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวจากตำรวจ และ/หรือ

– หนังสือรับรองจากอัยการหรือตำรวจ ที่ระบุถึงการดำเนินคดีตามกฏหมายต่อผู้กระทำความรุนแรงต่อคุณ

เอกสารจากหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านความรุนแรงในครอบครัว เอกสารเหล่านี้ได้แก่

– หนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่บ้านฉุกเฉิน หรือส่วนช่วยเหลือเหยื่อผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัว ที่เหยื่อไปพักอยู่ และ/หรือ

– เอกสารใบรับรองแพทย์ จากโรงพยาบาล หรือหมอ ที่ระบุว่าได้รับบาดเจ็บจากการถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว

– หนังสือรับรองจาก het Advies- en Steunpunt Huiselijk Geweld เกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงรายละเอียดคร่าวๆ นะคะ ว่าถ้าทนไม่ไหวแล้ว ไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะโดนส่งกลับ มันมีหนทางอยู่ค่ะ – แต่อย่างไรก็ตาม ควรโทร หรือไปปรึกษาหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ค่ะ เพราะเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวค่ะ แต่ละคน สถานการณ์ไม่เหมือนกัน วิธีการแก้ปัญหาก็อาจจะต่างกัน

เมื่อโดนแฟนทำร้าย แนะนำว่าให้ติดต่อขอความช่วยเหลือ หรือขอคำปรึกษาจากหน่วยงานของรัฐ ถึงแม้สุดท้ายเราจะยังตัดใจออกมาจากสถานการณ์นั้นไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็มีบันทึกเป็นทางการ ซึ่งจะมีประโยชน์กับเราในภายหลัง หากมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น — ไม่แนะนำให้หนีไปอยู่บ้านเพื่อนค่ะ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน เผลอๆ กลายเป็นเราเป็นฝ่ายเสียเปรียบหากมีการฟ้องร้องหรือหย่าร้างเกิดขึ้น

อ้างอิง

  1. https://www.vooreenveiligthuis.nl/geweld-thuis.php
  2. https://www.huiselijkgeweld.nl/dossiers/partnergeweld
  3. http://www.partnergeweld.be/nl/algemene_informatie/meer_weten/vormen
  4. https://www.huiselijkgeweld.nl/organisaties
  5. https://www.slachtofferhulp.nl/Delicten/Huiselijk-geweld/weggaan-of-blijven/
  6. Huiselijk geweld, eergerelateerd geweld, mensenhandel, achterlating en uw verblijfsvergunning, IND, april 2017 https://ind.nl/Formulieren/3083.pdf

 

กิติกรรมประกาศ

ขอบคุณเพื่อนๆ ทั้งเพื่อนทางเฟสบุ๊ก และเพื่อนในชีวิตจริง ที่ไว้ใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ ทำให้ได้ทราบว่าจริงๆ แล้ว ความรุนแรงในครอบครัวใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

ขอบคุณพี่แป๋ว – เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ แห่ง Thai voor taal ที่ตรวจทานความถูกต้องของบทความนี้ค่ะ