ในปีหน้า วันที่ 1 กรกฎาคม 2020 กฎหมายผู้บริจาคอวัยวะของเนเธอร์แลนด์ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ค่ะ เลยอยากเขียนเล่า และอยากเชิญชวนพี่น้องชาวไทยในเนเธอร์แลนด์มาลงทะเบียนผู้บริจาคอวัยวะกันค่ะ — คือจะลงทะเบียนยินยอมบริจาคอวัยวะในกรณีเสียชีวิต หรือจะลงทะเบียน “ไม่” บริจาคอวัยวะ ก็ได้นะคะ แล้วแต่เลย แต่อยากให้ลงทะเบียน เพราะเป็นการตัดสินใจกับร่างกายของเราเอง ไม่ต้องผลักเป็นภาระของคนข้างหลังให้ลำบากใจค่ะ
ความแตกต่างสำคัญของกฎหมายผู้บริจาคอวัยวะฉบับใหม่นี้คือ ให้นับว่าทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ นับเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ (คือตรงกันข้ามจากเดิม ที่ทุกคนไม่ใช่ผู้บริจาคอวัยวะ ถ้าอยากบริจาคก็ต้องทำเรื่องบริจาค)
เหตุผลที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า จำนวนผู้ป่วยที่รอการบริจาคอวัยวะมีเป็นจำนวนมากค่ะ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิตไป 130 – 150 คน เพราะว่ารออวัยวะจากผู้บริจาคไม่ไหว
ใครมีสิทธิลงทะเบียนผู้บริจาคอวัยวะ
คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์มามากกว่า 3 ปี และอายุมากกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติดัตช์ค่ะ)
ลงทะเบียนผู้บริจาคอวัยวะได้อย่างไร
มีอยู่ 3 ทางเลือกค่ะคือ
1. ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.donorregister.nl
การลงทะเบียนวิธีนี้ ผู้ลงทะเบียนต้องมี DigiD ค่ะ เพื่อล็อกอินในเว็บไซต์ (DigiD นี่เปรียบเสมือนบัตรประชาชนทางอิเลกทรอนิกส์ที่ประชาชนใช้ในการติดต่อกับทางราชการดัตช์ค่ะ)
2. ลงทะเบียนทางเว็บไซต์
สำหรับคนที่ไม่มี DigiD ก็สามารถลงทะเบียนผู้บริจาคอวัยวะได้ค่ะ โดยไปตัดสินใจเลือกที่จะบริจาคอวัยวะหรือไม่ และกรอกแบบฟอร์ม ใส่รายละเอียดส่วนตัวได้ที่ https://mijn.donorregister.nl/#!/formulier/keuze ค่ะ (คือถ้ามี DigiD ในส่วนของข้อมูลส่วนตัว เพราะรัฐรู้อยู่แล้วว่าเราเป็นใครน่ะค่ะ)
3. ลงทะเบียนทางไปรษณีย์
วิธีไม่ค่อยสะดวกค่ะ เราสามารถไปขอแบบฟอร์มผู้บริจาคอวัยวะได้ที่ gemeente ที่เราอยู่ กรอกแบบฟอร์ม ลงลายมือชื่อ และวันที่ แล้วก็ส่งมาทางไปรษณีย์ที่
Donorregister
Postbus 3172
6401 DR Heerlen
ทางเลือกของผู้บริจาคอวัยวะ
ทางเลือกที่ 1 – Ja, ik geef toestemming voor orgaandonatie
ทางเลือกที่ 1 นี้แปลว่า เรายินดีที่จะเป็นผู้บริจาคอวัยวะ ในการนี้เราสามารถเลือกได้ด้วยค่ะ ว่าจะบริจาคอวัยวะทุกส่วนที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือจะบริจาคแค่บางอวัยวะ
ทางเลือกที่ 2 – Nee, ik geef geen toestemming voor orgaandonatie
ทางเลือกนี้ แปลว่า เราปฏิเสธที่จะเป็นผู้บริจาคอวัยวะค่ะ เพราะด้วยเหตุความเชื่อทางศาสนา หรือด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ก็เคารพการตัดสินใจกันค่ะ
ทางเลือกที่ 3 – Mijn partner of familie beslist
ทางเลือกนี้ แปลว่า เราจะปล่อยให้คู่ครองของเรา หรือครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจค่ะว่าจะบริจาคอวัยวะของเราหรือไม่ (เมื่อเราหมดลมหายใจไปแล้ว)
ทางเลือกที่ 4 – Een door mijn gekozen persoon beslist
ทางเลือกนี้ คือไม่ตัดสินใจด้วยตนเองค่ะ แต่ระบุชื่อคนที่จะเป็นผู้ตัดสินใจแทนเราว่าจะบริจาคอวัยวะหรือไม่ คนที่ตัดสินใจนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนในครอบครัว หรือมีความเกี่ยวข้องกับเราทางสายเลือดก็ได้ค่ะ
หลังจากเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งแล้ว เราจะได้รับจดหมาย (ที่เป็นกระดาษ) จากรัฐบาลค่ะ เพื่อยืนยันว่าได้รับรู้การตัดสินใจของเราแล้ว
เราสามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในทางเลือกในการบริจาคอวัยวะเหล่านี้ได้ค่ะ หรือจะเข้าไปเช็คอัพเดทที่อยู่ ในกรณีย้ายบ้านก็สามารถทำได้ด้วยตนเองค่ะ เพียงแค่เข้าไปเปลี่ยนในเว็บไซต์ donorregister.nl เท่านั้นเอง
จะเกิดอะไรขึ้น หากเราไม่ลงทะเบียนผู้บริจาคอวัยวะ
กฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ค่ะ — ก่อนที่จะถึงวันนั้น รัฐบาลก็จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงกฎหมายผู้บริจาคอวัยวะฉบับใหม่นี้ ดังนั้นช่วงนี้ ทุกบ้านจะได้รับแผ่นพับประชาสัมพันธ์กฎหมายนี้จากรัฐบาลค่ะ
- หลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ถ้าใครยังไม่ได้ลงทะเบียน ก็จะมีจดหมายจากรัฐค่ะ เพื่อสอบถามและให้เลือกว่าจะเป็นผู้บริจาคอวัยวะหรือไม่
- หลังจากจดหมายฉบับแรกผ่านไป และยังไม่ได้ตัดสินใจเลือก คือว่าง่ายๆ ว่าไม่ตอบกลับ หลังจากนั้นอีก 6 สัปดาห์ จะมีจดหมายทวงถามมาอีกฉบับค่ะ
- จดหมายฉบับที่สองผ่านไป ถ้าเรายังไม่ตอบ ยังไม่ทำอะไร ไม่เลือกว่าจะบริจาคอวัยวะภายหลังจากเราเสียชีวิตหรือไม่ รัฐก็จะจัดให้เราไปอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “Geen bezwaar tegen orgaandonatie – ไม่ปฏิเสธการบริจาคอวัยวะ” ค่ะ และเราก็จะได้รับจดหมายเป็นฉบับที่สาม ระบุว่าชื่อเราอยู่ในกลุ่มนี้
“Geen bezwaar tegen orgaandonatie” แปลว่าอะไร
รัฐจะตั้งสมมุติฐานว่า บุคคลผู้นี้ไม่ปฏิเสธการบริจาคอวัยวะภายหลังจากเสียชีวิตค่ะ เพราะตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ ให้เขาไปลงทะเบียน เขาก็ไม่ลง รัฐส่งจดหมายไปถาม 2 ฉบับแล้ว เขาก็ไม่ตอบ ไม่ทำอะไร – รัฐก็เลยตี๋ต่างว่าเขาไม่ปฏิเสธค่ะ พอเขาเสียชีวิตลง ถ้าอวัยวะของเขาสามารถใช้ต่อชีวิตผู้ป่วยคนอื่นได้ หมอก็จะมาปรึกษากับญาติของผู้เสียชีวิตค่ะ ว่ายินดีที่จะบริจาคหรือไม่ ถ้าญาติหรือคนในครอบครัวไม่อนุญาต การบริจาคอวัยวะก็จะไม่เกิดขึ้นค่ะ
อวัยวะใดที่ทำไปใช้ประโยชน์ต่อได้บ้าง
การบริจาคอวัยวะ เป็นการเอาแค่อวัยวะที่นำไปเปลี่ยนถ่ายใช้ประโยชน์เพื่อต่อชีวิตให้แก่ผู้อื่นได้เท่านั้นค่ะ ไม่ได้เอาไปทั้งร่างกาย ดังนั้นแพทย์จะผ่าตัดเอาแต่อวัยวะนั้นๆ ออกไป ส่วนร่างกายส่วนที่เหลือก็คืนให้แก่ญาติ เพื่อนำไปประกอบพิธีฌาปณกิจต่อไปค่ะ อวัยวะที่ใช้ได้ก็ได้แก่
- หัวใจ
- ไต
- ตับ
- ปอด
- ตับอ่อน
- ลำไส้
การบริจาคเนื้อเยื่อที่เหมาะสมเข้ากับผู้รับบริจาค
- ผิวหนัง
- เนื้อเยื่อกระดูก (รวมถึงเส้นเอ็นและกระดูกอ่อน)
- เนื้อเยื่อตา
- ลิ้นหัวใจ
- เส้นเลือด
สถานการณ์ผู้บริจาคอวัยวะในปัจจุบัน
ตอนนี้ มีผู้ลงทะเบียนผู้บริจาคอวัยวะแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศค่ะ โดยในนั้นมีเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ที่ลงทะเบียนยินยอมให้บริจาคอวัยวะ อีก 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศยังไม่ลงทะเบียนค่ะ
ว่าง่ายๆ ว่า นับว่าคนในประเทศเนเธอร์แลนด์ 100 คน มี 40 คนที่ลงทะเบียนผู้บริจาคอวัยวะ และใน 40 คนนั้น มีเพียงประมาณ 9 คน ที่ยินยอมบริจาคอวัยวะเมื่อเสียชีวิตค่ะ ที่เหลืออีก 60 คนยังไม่ได้ตัดสินใจ