zzp ย่อมาจาก Zelfstandige Zonder Personeel หรือก็คือ ผู้ประกอบการอิสระ กิจการที่มีผู้ประกอบการคนเดียว ไม่มีลูกจ้าง หรือฟรีแลนซ์ นั่นเอง
zmp ย่อมาจาก Zelfstandige met personeel หรือ กิจการที่มีผู้ประกอบการคนเดียวเป็นเจ้าของ แต่มีลูกจ้าง
ความเป็นมาของกฎหมายใหม่
กฎหมายใหม่นี้มีชื่อว่า De Wet deregulering beoordeling arbeidsrelaties (ย่อว่า DBA) แปลว่า พระราชบัญญัติการประเมินความสัมพันธ์ในการจ้างงาน
จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่กฎหมายใหม่ค่ะ มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2016 แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจากจริงจัง เนื่องจากปัญหาเรื่องการพิสูจน์ความแตกต่างของการเป็นฟรีแลนซ์และการเป็นลูกจ้างไม่ชัดเจน กฎหมายตัวนี้เลยเลื่อนบังคับใช้เรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม ปีหน้า รัฐบาลประกาศว่าจะบังคับใช้จริงๆ จังๆ ค่ะ
เจตนารมณ์ของกฎหมาย DBA
เนื่องจากจำนวนผู้จดทะเบียนเป็นฟรีแลนซ์ (zzp) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งเนเธอร์แลนด์พบว่าปี 2023 มีจำนวนผู้จดทะเบียนเป็น zzp’er และ zmp’er กว่า 1.2 ล้านคน คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมดในประเทศ
zzp’ers กว่า 1 ล้านคน ในจำนวน 1.2 ล้านที่จดทะเบียนเป็น zzp มีรายได้จากการเสนอให้บริการต่างๆ หรือใช้แรงงานค่ะ มีเพียงกลุ่มน้อยที่ขายสินค้าหรือวัตถุดิบ
คราวนี้เนี่ย การเป็นฟรีแลนซ์แปลว่า การจ่ายภาษีก็แตกต่างจากการเป็นลูกจ้างค่ะ ผู้ประกอบการที่จ้างฟรีแลนซ์ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเรื่องจุกจิกตามกฎหมายแรงงานที่ต้องกระทำให้แก่ลูกจ้าง รวมถึงการจ่ายภาษีด้วย เช่น zzp’er ไม่มีเรื่องของภาษีเงินเดือน นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าประกัน เงินบำนาญ ค่าทำงานวันหยุด เป็นต้น
ดังนั้นเนี่ย ผู้ประกอบการบางรายจึงมีการฉวยโอกาสเอาเปรียบ โดยลูกจ้างบางคนไม่ได้อยากเป็น zzp’er แต่ถูกบังคับให้เป็น เลยต้องเป็น zzp’er ปลอมๆ จดทะเบียนเป็นฟรีแลนซ์ แต่ทำหน้าที่ทุกอย่างเหมือนเป็นพนักงานบริษัท
ซึ่งวิธีนี้นายจ้างจะจ่ายภาษีน้อยกว่าการมีพนักงานเป็นลูกจ้างมากค่ะ และตัวลูกจ้างเองก็ได้รับการคุ้มครองน้อยกว่าด้วย เช่นในกรณีที่ถูกเลิกจ้างหรือได้รับความเจ็บป่วยจากการทำงาน เหมือนเช่นที่เคยมีคดีขึ้นศาลในปี 2023 และศาลตัดสินว่า พนักงานส่งสินค้าของ Deliveroo ไม่ใช่ zzp’er จริงๆ
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจด้วย กลายเป็นบริษัทที่ทำถูกต้อง รับพนักงาน ต้องแบกรับจ่ายภาษีมากกว่าคนที่จ้าง zzp’ers แต่ให้ทำงานหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงาน
ดังนั้นกฎหมายใหม่ตัวนี้จึงออกมาเพื่อให้อำนาจสรรพากรในการพิสูจน์ว่าแยกว่าใครคือ คนทำงานฟรีแลนซ์จริงๆ และใครคือตัวปลอม ที่ไม่ได้อยากเป็นฟรีแลนซ์ แต่โดนบริษัทผู้ว่าจ้างบังคับให้ต้องเป็น รวมถึงกฎหมายนี้ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านภาษีเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในกรณีที่พบว่านายจ้างปลอมการจ้างงานด้วยค่ะ
schijnzelfstandigheid คือ การจ้างงานปลอม คือ คนที่จดทะเบียนเป็นฟรีแลนซ์ แต่มีสัญญาการจ้างงานเหมือนเป็นพนักงานในองค์กร
สิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือน
- สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองหากมีการเลิกจ้าง
- สิทธิในค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าจ้างตามข้อตกลงร่วมกัน
- สิทธิในการได้รับค่าจ้างในวันหยุด
- สิทธิที่เป็นไปตามเงื่อนไขในโครงการบำนาญ
- นายจ้างต้องหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายสำหรับภาษี และชำระเบี้ยประกันภัย
- ประกันความเจ็บป่วย การทุพพลภาพระยะยาว และประกันการว่างงาน
- สิทธิในการลาโดยยังได้รับค่าจ้าง
- ทำงานที่ได้รับมอบหมาย
- ราคาจะถูกกำหนดโดยอิสระ หรือโดยการตกลงกัน
- สิทธิที่จะได้รับประโยชน์ด้านภาษีของผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- รับผิดชอบจัดหาเงินบำนาญของตนเอง
- รับผิดชอบรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีเงินได้
- รับผิดชอบในการทำประกันการเจ็บป่วยและทุพพลภาพของตนเอง และไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการการว่างงาน
- เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะทำงานที่ได้รับมอบหมายเมื่อไร หรือจะทำหรือไม่ และไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด หรือวันที่ไม่ได้มาทำงาน
สิทธิและหน้าที่ของผู้ประกอบการอิสระ (ฟรีแลนซ์ หรือ zzp’er)
การตรวจสอบเพื่อป้องกันการจ้างงานปลอม
รัฐบาลได้ทำรายการเช็คลิสต์แบบสอบถามทดสอบค่ะว่าลักษณะงานที่ทำนั้นเป็นลักษณะงานของฟรีแลนซ์ หรือเป็นลักษณะงานของการเป็นพนักงานลูกจ้างของบริษัทกันแน่ค่ะ ลิงก์ที่ว่าคือ –> https://www.rijksoverheid.nl/onderwerpen/aanpak-schijnconstructies/maatregelen-tegen-schijnconstructies
ในเช็คลิสต์จะมีคำถามทั้งหมด 10 คำถาม คำตอบให้เลือกคือ ใช่ (JA) หรือ ไม่ใช่ (NEE) ทั้ง 10 คำถาม หากคำตอบของคำถามมากกว่าครึ่งอยู่ในเกณฑ์เป็นพนักงานลูกจ้าง ผู้ว่าจ้างก็ต้องทำเอกสารให้ถูกต้องค่ะ (ก่อนที่สรรพากรจะมาพบ) คำถาม 10 ข้อที่ว่านี้คือ :
งานที่ทำ นายจ้างเป็นผู้กำหนดวิธีการทำงาน หรือเวลาในการเข้างานหรือไม่
ปกติถ้าเป็น zzp’er หรือฟรีแลนซ์ จะมีอิสระในเวลาทำงานค่ะ สามารถตัดสินใจได้เองว่าจะทำงานตอนไหน หรือเมื่อไร แต่ต้องส่งงานให้ทันตามกำหนด หรือทำงานให้ได้ผลลัพธ์ตามที่นายจ้างต้องการ แต่นายจ้างจะไม่มายุ่งเกี่ยวกับวิธีการทำงาน
แต่ถ้าเป็นพนักงานลูกจ้าง พนักงานมักมีการกำหนดเวลาชั่วโมงทำงานที่แน่นอน
ระยะเวลาของการทำงาน งานที่ทำนั้นดำเนินการเป็นระยะเวลานานหรือไม่
ฟรีแลนซ์จะได้รับมอบหมายงานเป็นชิ้นๆ ไป หรือเป็นระยะเวลาสั้นๆ หรือเป็นระบุจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีวันเริ่มต้นโครงการและวันสิ้นสุดที่ชัดเจน
ซึ่งต่างจากพนักงานในองค์กร ที่จะต้องทำงานในบริษัทเป็นระยะยาวไม่มีการกำหนดวันสิ้นสุดที่ชัดเจน
กิจกรรมงานที่ทำนั้น ก็มีพนักงานลูกจ้างขององค์กรนั้นทำอยู่ด้วยเช่นกันใช่หรือไม่
งานของฟรีแลนซ์ควรเป็นงานพิเศษเฉพาะที่ไม่มีพนักงานคนใดในบริษัททำอยู่
หากฟรีแลนซ์ปฏิบัติงานเช่นเดียวกับพนักงานลูกจ้างขององค์กร และบูรณาการเข้ากับทีมในองค์กรอย่างสมบูรณ์ เช่น เข้าร่วมประชุมทีม ร่วมหลักสูตรฝึกอบรม หรือร่วมกิจกรรมนอกสถานที่แบบพนักงานในองค์กร แบบนี้อาจบ่งบอกว่าคือการจ้างงานเป็นพนักงาน ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ค่ะ
สถานที่ที่ผู้ปฏิบัติงานทำงานเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนั้นหรือไม่ เช่น เป็นคนงานก่อสร้างในบริษัทก่อสร้าง หรือเป็นคุณครูสอนหนังสือในโรงเรียน เป็นต้น
ฟรีแลนซ์ควรเป็นผู้มีความชำนาญพิเศษ และมีประสบการณ์ในงานที่ทำ ซึ่งไม่สามารถหาได้จากพนักงานในองค์กรนั้น
ฟรีแลนซ์ที่ต้องมาทำงานในสถานที่ของลูกค้าอยู่เสมอ อาจเข้าข่ายเป็นพนักงานลูกจ้างได้ค่ะ
ผู้ปฏิบัติงานมีความเป็นส่วนตัวในการทำงาน สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง และจะถูกแทนที่หรือเปลี่ยนก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากนายจ้างเท่านั้นหรือไม่
ฟรีแลนซ์มีอิสระที่จะไม่ปฏิบัติงานนั้นด้วยตนเอง แต่ให้คนอื่นที่ทำงานนั้นได้มาทำงานแทนได้
ต่างกับพนักงานลูกจ้าง ที่ต้องมาทำงานด้วยตนเอง และหากมีเหตุใดๆ ขึ้นมา ก็ไม่สามารถหาคนมาทำงานนั้นแทนด้วยตนเองได้ ต้องแจ้งถึงอุปสรรคที่ไม่สามารถมาทำงานแก่นายจ้าง และนายจ้างจะรับผิดชอบความเสียหายนี้ หาคนอื่นมาทำแทนเอง
มีการตกลงเรื่องค่าตอบแทนในการทำงานกันล่วงหน้าว่าจะจ่ายเป็นรายชั่วโมง (หรือต่อเดือน) และโอนตามเวลาที่กำหนด
ฟรีแลนซ์จะได้รับค่าจ้างตามใบแจ้งหนี้ต่อชั่วโมงหรือต่อชิ้นงาน และชำระตามการทำงานจริงเท่านั้น หากฟรีแลนซ์เจ็บป่วย จะไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ เลย
ค่าตอบแทนที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับในจำนวนที่เทียบเท่ากับพนักงานลูกจ้างที่รับเงินเดือนและทำงานในตำแหน่งคล้ายๆ กันขององค์กรนั้นหรือไม่
ฟรีแลนซ์ต้องได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าที่จ่ายให้แก่พนักงานลูกจ้างขององค์กร (ที่ทำงานในหน้าที่คล้ายๆ กัน) อย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายระบุค่าแรงขั้นต่ำของคนเป็นฟรีแลนซ์ค่ะ (แต่ควรมากกว่า 33 ยูโรต่อชั่วโมง)
ผู้ปฏิบัติงานมีความเสี่ยงทางการค้าเล็กน้อยเมื่อปฏิบัติงานหรือไม่ เนื่องจากผู้จ้างเป็นผู้แบกรับความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหากการทำงานไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ
ฟรีแลนซ์จะต้องแบกรับความเสี่ยงของการเป็นผู้ประกอบการและลงทุนเองในการทำงาน เช่น ต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการทำงานเอง หรือความเสี่ยงในการประกอบการ เช่น เสี่ยงที่จะไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับงานที่ทำ ในขณะที่พนักงานลูกจ้างมีความเสี่ยงน้อยมาก หรือไม่มีเลย มาทำงานใช้ความสามารถและแรงงาน แต่อุปกรณ์ในการทำงานต่างๆ นายจ้างจัดหามาให้ค่ะ
ผู้ปฏิบัติงานมีงานให้ทำหลายงานแตกต่างกันไป และมีผู้ว่าจ้างงานหลายคนแตกต่างกันไปหรือไม่
zzp’er หรือฟรีแลนซ์ก็เหมือนผู้ประกอบการเจ้าของกิจการคนหนึ่งค่ะ คือมีลูกค้าหลายคน มีคนมาจ้างให้ทำงานหลายคน หรือมีหลายงานให้ทำ และก็ต้องทำงานอื่นๆ เหมือนเป็นผู้ประกอบการ เช่น มีเว็บไซต์บริษัทของตน และบริหารจัดการเว็บไซต์ของตนอย่างจริงจัง มีการทำการตลาดหาลูกค้า เป็นต้น
ถ้าฟรีแลนซ์ทำงานให้แก่ลูกค้า (หรือนายจ้าง คนที่จ่ายค่าแรง) เพียงแค่บริษัทใดบริษัทเดียวเป็นระยะเวลานาน แบบนี้อาจเข้าข่ายไม่ได้เป็นฟรีแลนซ์ แต่คือพนักงานลูกจ้างขององค์กรนั้นค่ะ
ผู้ปฏิบัติงานมีพันธะสัญญาตามกฎหมายที่จะต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อบรรลุผล โดยไม่รับประกันผลลัพธ์นั้น (inspanningsverplichting)
zzp’er ต้องทำงานให้บรรลุผลลัพธ์ตามที่ได้ตกลงกับผู้ว่าจ้างไว้ค่ะ ซึ่งแตกต่างจากพนักงานลูกจ้างที่ต้องทำงานอย่างดีที่สุดเพื่อให้บรรลุผล แต่ไม่ต้องรับประกันผลลัพธ์นั้น (inspanningsverplichting)
ความเสี่ยงหากสรรพากรพบว่ามีการจ้างงานปลอม
หากหน่วยงานด้านภาษีมาตรวจสอบและพบว่ามีการจ้างงานปลอม (schijnzelfstandigheid) คือจ้าง zzp’er มาทำงานในหน้าที่ที่ควรจะเป็นการจ้างในฐานะพนักงานลูกจ้าง — ในปี 2025 ที่กฎหมายนี้จะเริ่มบังคับใช้เป็นปีแรก แต่สรรพกากรบอกว่าจะยังไม่เข้มงวดในปีแรกนี้ และจะยังไม่มีค่าปรับใดๆ ค่ะ ทั้งแก่นายจ้างและลูกจ้าง (ยกเว้นกรณีที่สรรพากรเห็นว่าเป็นการจงใจหลบเลี่ยงกฎหมาย) แต่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ากำลังดำเนินการให้ถูกต้องอยู่ โดยสรรพากรให้เวลาในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ 1 ปี
แต่หลังจากปี 2025 ที่สรรพากรอนุโลมให้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ผ่านไปแล้ว หากพบว่ามีการจ้างงานปลอม ผู้ประกอบการจะพบกับ :
– ภาษีย้อนหลัง
เนื่องจากสรรพากรไปเจอว่าจ้างงานปลอม ดังนั้นฟรีแลนซ์คนนั้นไม่ได้ผู้ประกอบการอิสระ แต่เป็นพนักงานของบริษัทผู้ว่าจ้าง บริษัทจึงต้องจ่ายภาษีย้อนหลังที่ต้องจ่ายสำหรับพนักงานค่ะ เช่น ภาษีเงินเดือน เงินสมทบประกันสังคมในช่วงเวลาที่ลูกจ้างคนนั้นทำงานให้บริษัทตามจริง รวมถึงอาจโดนแบล็คสิสต์จากสรรพากรได้ค่ะ
ส่วนตัวฟรีแลนซ์ปลอมก็ต้องจ่ายภาษีตามเงินเดือนที่ได้รับจากนายจ้าง และสูญเสียสิทธิทางภาษีที่ได้รับในฐานะเป็น zzp ไปค่ะ
– ค่าปรับ
หลังจากปี 2025 สรรพากรอาจเรียกเก็บค่าปรับสำหรับการไม่ชำระภาษีเงินเดือนและเงินสมทบประกันสังคม จำนวนค่าปรับขึ้นอยู่กับจำนวนภาษี อาจสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ยังไม่ได้ชำระ (กลายเป็นต้องจ่ายภาษีย้อนหลัง และจ่ายค่าปรับด้วยค่ะ)
🙋🏻♀️ ด้วยเหตุที่เส้นแบ่งระหว่างการเป็นฟรีแลนซ์กับพนักงานลูกจ้างในบางอาชีพไม่ชัดเจนนัก ดังนั้นหลายๆ บริษัทจึงไม่อยากเสี่ยงมีปัญหากับสรรพากรด้วยกฎหมายใหม่นี้ จึงตัดปัญหาด้วยการเลิกจ้าง zzp’ers ไปก่อนในช่วงนี้ค่ะ — ในขณะที่ zzp’ers ในบางสาขาอาชีพเองก็กังวล เพราะบางคนทำงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเวลานาน จนเกรงว่าสรรพากรจะเหมารวมว่าพวกเขาเป็นพนักงาน และมีการจ้างงานปลอม
และยังมีกฎหมายใหม่ที่กำลังจะมาในอนาคตกันใกล้ – กฎหมาย VBAR
ถ้าคิดว่ากฎหมาย DBA ที่กำลังจะบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2025 ยุ่งยากแล้ว …อย่าเพิ่งคิดเช่นนั้นค่ะ เพราะแผนถัดไปของรัฐบาลคือ การใช้กฎหมายที่ชื่อว่า De Wet Verduidelijking Beoordeling Arbeidsrelaties en Rechtsvermoeden (ย่อว่า VBAR) หรือพระราชบัญญัติชี้แจงความสัมพันธ์ในการจ้างงานและข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย
กฎหมาย VBAR มีวัตถุประสงค์เพื่อการแบ่งแยกให้ชัดเจนขึ้น ระหว่างผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เป็น zzp’er กับคนที่เป็นลูกจ้าง — กฎหมายนี้จะมีการกำหนดอัตราค่าแรงอย่างชัดเจน (ฟรีแลนซ์จะได้ค่าจ้างสูงกว่าพนักงาน) ถ้าค่าแรงต่ำกว่าที่อัตราที่กำหนด ให้นับเป็นพนักงาน และเจ้าของบริษัทต้องชี้แจงเนื้อหาของงานด้วยค่ะ ว่าทำไมงานชิ้นนี้จึงต้องจ้างฟรีแลนซ์ ทำไมจึงไม่สามารถให้พนักงานของตนทำงานให้ได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ยังเพียงฉบับร่างนะคะ ยังมีข้อต้องถกกันต่างๆ มากมาย แต่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้กำหนดระยะเวลาว่า ต้องการให้กฎหมาย VBAR นี้ผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2026 ค่ะ (โดยกฎหมาย VBAR จะมาแทนที่กฎหมาย DBA นั่นเอง)
อ้างอิง
- Nieuwe zzp-wetten: betere bescherming tegen schijnzelfstandigheid of betutteling? . NOS. Zondag 9 juli 2024.
- Twee maanden tot zzp-handhaving: ‘Aan welke regels moet ik me houden?‘ . NOS. Vrijdag 1 November 2024.
- Voorkomen van schijnzelfstandigheid . Rijsoverheid.
- Ontwikkelingen zzp . Centraal Bureau voor de Statistiek
- De Wet DBA in 2025: Dit moet je weten . Freelance.nl
- Vanaf 1 januari 2025 volledige handhaving op schijnzelfstandigheid . Nieuwsbericht, Rijksoverheid. 06-09-2024