นโยบายและงบประมาณประจำปี 2025 กับผลกระทบต่อเรา

ทุกวันอังคารสัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายน จะเป็นวัน Prinsjesdag ค่ะ — เป็นวันแถลงนโยบายและงบประมาณประจำปีของรัฐบาล

หลังจากที่เนเธอร์แลนด์อยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Mark Rutte มายาวนานนับสิบปี ปีนี้เป็นปีแรกที่งบประมาณประจำปีนำโดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ Dick Schoof

รัฐบาลใหม่ได้ประกาศตั้งแต่ตอนก่อตั้งแล้วว่า จะมีมาตรการควบคุมผู้ลี้ภัยและการอพยพที่เข้มงวดที่สุดเท่าที่เคยมีมา และจะอยู่ข้างเกษตรกรมากกว่าสิ่งแวดล้อมค่ะ จะผ่อนคลายความเข้มเรื่องการปล่อยออกไซต์ของไนโตรเจนที่ยุโรปบังคับ และเนเธอร์แลนด์เคยทะเยอทะยานที่จะทำให้ได้ดีกว่าที่ยุโรปต้องการในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรฟาร์มโคนม ฟาร์มปศุสัตว์บางรายอาจถึงต้องปิดกิจการ — แต่รัฐบาลใหม่จะไม่ทะเยอทะยานเช่นนั้น แต่จะเน้นเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากกว่า

แต่อุปสรรคที่สำคัญคือ งบประมาณมีจำกัดค่ะ จึงไม่สามารถอุดหนุนทุกอย่างได้ ดังนั้นดูเหมือนนโยบายรัฐบาลใหม่นี้จะตัดงบด้านการศึกษา และการช่วยเหลือพัฒนาประเทศโลกที่สาม รวมถึงยังยืนยันที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวดสินค้าทางด้านวัฒนธรรม หนังสือ และกีฬา ในปี 2026 ค่ะ เพราะรัฐต้องการรายได้เพิ่มในส่วนนี้

งบประมาณ รายได้-รายจ่ายของรัฐ

ปีนี้รัฐตั้งงบประมาณแบบขาดดุลเล็กน้อยค่ะ อยู่ที่ 457 พันล้านยูโร จากในภาพเราจะเห็นว่าแหล่งรายได้ 3 อันดับแรกของรัฐมาจากภาษีรายได้ รองลงมาก็คือภาษีมูลค่าเพิ่ม (จากการจับจ่ายใช้สอยของเรานั่นเองค่ะ) อันดับที่สามของแหล่งรายได้ของรัฐ มาจากเบี้ยประกันสุขภาพค่ะ เราจ่ายให้บริษัทประกันสุขภาพทุกเดือน และบริษัทฯ จะนำส่งส่วนหนึ่งให้แก่รัฐ

รายได้ของรัฐบาล ที่มา: https://nos.nl/collectie/13979/artikel/2537546-dit-zijn-de-plannen-en-voornemens-van-het-kabinet-schoof

รายจ่ายของรัฐส่วนใหญ่ในปี 2025 คือรายจ่ายด้านประกันสังคม เช่น เงินสงเคราะห์ต่างๆ ค่ะ เงินบำนาญผู้สูงอายุ เงินสงเคราะห์บุตร ฯลฯ และรายจ่ายด้านสุขภาพสาธารณสุข

รายจ่ายรองลงมาอันดับสามของรัฐคือ รายจ่ายให้กองทุนการปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลและจังหวัด

รายจ่ายอันดับสี่ถัดมาคือ รายจ่ายให้แก่การศึกษา วัฒนธรรม และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ค่ะ ส่วนรายจ่ายด้านกลาโหมตามมาเป็นลำดับห้าค่ะ

รายจ่ายของรัฐนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาลค่ะ ว่าเน้นความสำคัญต่อภาคส่วนใดเป็นพิเศษ

รายจ่ายของรัฐบาลปี 2025 -- ที่มา https://nos.nl/collectie/13979/artikel/2537546-dit-zijn-de-plannen-en-voornemens-van-het-kabinet-schoof

นโยบายรัฐปี 2025 และผลกระทบ

ด้านสาธารณสุข

  • เบี้ยประกันสุขภาพรายเดือน ปีหน้าจ่ายเดือนละ 156 ยูโรต่อเดือน <– นี่เป็นตัวเลขประมาณจากรัฐนะคะ ตัวเลขที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับบริษัทประกันสุขภาพซึ่งบริษัทเอกชน และแต่ละบริษัทจะประกาศตัวเลขเบี้ยประกันสุขภาพแพคเกจของบริษัทอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน แต่นี่เป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ค่ะว่า ปีหน้าจ่ายเบี้ยประกันรายเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 10 ยูโร
  • eigen risico ของปีหน้าจะยังอยู่ที่ 385 ยูโรเท่าเดิม แต่รัฐมีแผนที่จะลดเหลือ 165 ยูโร ภายในปี 2027 (🙋🏻‍♀️ ลด eigen risico เป็นเรื่องหนึ่งที่พรรค PVV หาเสียงไว้ค่ะ แต่ส่วนตัวมองว่า มันไม่ได้ช่วยลดภาระประชาชนเลย แต่เบี้ยประกันรายเดือนต่างหาก ที่ประชาชนที่ร่างกายแข็งแรง ทำงานได้เดือดร้อน เมื่อลด eigen risico แต่ไปขึ้นเบี้ยประกันรายเดือน คนทั่วไปก็เดือดร้อน …แต่นโยบายนี้ดีกับคนจน ที่สุขภาพแย่ค่ะ)
  • จะเริ่มมีโปรแกรมฉีดวัคซีน RSV ให้แก่เด็กทารกค่ะ — RSV เป็นชื่อของไวรัสทางเดินหายใจตัวหนึ่ง ที่ไม่ทำอันตรายมากนักในผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กทารกแล้ว อันตรายมาก เด็กบางคนป่วยถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล ใช้เครื่องช่วยหายใจเลย — วัคซีนนี้เพิ่งคิดค้นและได้รับอนุมัติความปลอดภัยค่ะ
  • และต่อจากนั้น รัฐก็มีแผนจะฉีดวัคซีนชนิดใหม่ (วัคซีน Vaxneuvance) ที่ใช้ป้องกันโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุและผู้อ่อนแอด้วยค่ะ วัคซีนชนิดใหม่นี้ มีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนแบบเก่า วัคซีนตัวนี้ฉีดให้เด็กทารกอยู่แล้วค่ะ
  • ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรโดยการใช้ AI เข้ามาช่วยในการจัดการด้านการบริหาร และจัดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล
  • ป้องกันการทำตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพที่ทำการตลาดมุ่งไปที่ผู้ซื้อที่เป็นเยาวชน
  • สร้างความเข้มแข็งให้แก่โรงพยาบาล สถานพยาบาลในส่วนภูมิภาค
  • สร้างที่อยู่อาศัย 290,000 หลังสำหรับผู้สูงอายุ ภายในปี 2030
  • เพิ่มเงิน 30 ล้านยูโร สำหรับจัดการปัญหาการรอคิวรักษาของผู้ป่วยด้านจิตเวช ผู้ต้องการการดูแลทางด้านสุขภาพจิต

ด้านการศึกษา

  • ตัดทอนงบประมาณในด้านการศึกษาครั้งใหญ่ “ด้วยทางเลือกที่เฉียบแหลมและสมเหตุสมผล”
  • ถึงจะตัดงบ แต่เงินอุดหนุนอาหารกลางวันยังอยู่ค่ะ เด็กเล็กยังจะได้รับอาหารกลางวันฟรีอยู่
  • เนื่องจากปีหน้ารัฐจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหนังสือ หนังสือเรียนจะแพงขึ้น ดังนั้นจะมีงบชดเชยตรงส่วนนี้ให้ค่ะ
  • ปรับปรุงทักษะพื้นฐานทางด้านการศึกษา และแก้ปัญหาการขาดแคลนครูด้วยแผนฟื้นฟู
  • เพื่อป้องกันไม่ให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ประชากรบางเบาต้องปิดตัวลง รัฐจะให้เงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนนั้นค่ะ
  • ขึ้นราคาค่าเรียน และลดจำนวนนักศึกษาต่างชาติ

การลี้ภัย และการอพยพ

  • ประกาศ “วิกฤติผู้ลี้ภัย – asielcrisis” เพื่อที่จะได้ใช้ช่องว่างในพระราชบัญญัติคนต่างด้าว — เนื่องจากเนเธอร์แลนด์จะต้องปฏิบัติตามกฎการลี้ภัยของยุโรป ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายในพระราชบัญญัติคนต่างด้าว ปี 2000 แต่กฎหมายนี้มีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้ามี “สถานการณ์พิเศษ ฉุกเฉิน” รัฐมนตรีสามารถยกเลิกไม่เข้าร่วมกับกฎนี้ได้ และการประกาศภาวะฉุกเฉินวิกฤติผู้ลี้ภัยนี้ ทำให้รัฐมนตรีสามารถออกมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อควบคุมผู้ลี้ภัยได้โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
  • รัฐบาลจะส่งคำขออย่างเป็นทางการไปยังสหภาพยุโรปค่ะ เพื่อขอ “opt-out” เนเธอร์แลนด์จะขอยกเว้นไม่อยู่ในกฎการขอลี้ภัยของอียู แต่นี่เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นเองค่ะ ว่าถ้าอียูมีการออกกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวกับการอพยพ เนเธอร์แลนด์ออกตัวบอกไว้ก่อนเลยว่าจะไม่ขอเข้าร่วม
  • การรวมครอบครัว (Gezinshereniging) จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้อพยพมีงานทำและมีบ้านอยู่อาศัย และต้องอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์มามากกว่าสองปี — Gezinshereniging คือเวลาผู้อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลมาฮอลแลนด์ มักจะมาแค่หัวหน้าครอบครัวแค่คนเดียวก่อนน่ะค่ะ พอเขาได้สถานะผู้ลี้ภัยที่นี่แล้ว ก็จะทำเรื่องขอให้ครอบครัว ลูกเมียมาอยู่รวมกันที่เนเธอร์แลนด์ค่ะ ปกติผู้ลี้ภัยจะได้สิทธินี้โดยอัตโนมัติค่ะ — แต่ต่อไป ผู้ลี้ภัยต้องอยู่เนเธอร์แลนด์อย่างน้อยสองปี และพร้อมทางด้านที่อยู่อาศัย และหน้าที่การงานในเนเธอร์แลนด์ก่อนค่ะ จึงจะรับครอบครัวมาอยู่ด้วยกันได้
  • กฎหมายการกระจายผู้ลี้ภัย (Spreidingswet) ถูกยกเลิก — กฎหมายตัวนี้เป็นความริเริ่มของรัฐบาลเก่า เนื่องจากศูนย์ลงทะเบียนผู้อพยพที่ Ter Apel มีพื้นที่ไม่พอรองรับผู้อพยพ และภายในศูนย์ก็แออัด ไม่ปลอดภัย — รัฐบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการกระจายผู้อพยพไปยังพื้นที่ต่างๆ และบังคับให้เทศบาลทุกแห่งต้องรับผู้อพยพในสัดส่วนต่างๆ กันตามเกณฑ์ค่ะ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ พรรค PVV คัดค้านอย่างรุนแรง
  • เนรเทศผู้อพยพที่ไม่มีใบอนุญาตพำนักอย่างถูกต้องด้วยกำลัง
  • การต่ออายุใบอนุญาตพำนักสำหรับคนที่ถือใบอนุญาตพำนักแบบ onbepaalde tijd จากเดิม 5 ปี เลื่อนเป็น 10 ปี — เดิมทีผู้มีสถานะลี้ภัยจะได้ใบอนุญาตพำนักแบบชั่วคราว 5 ปี และพอครบเวลา ถ้ายังไม่ได้สัญชาติ ก็จะได้ใบอนุญาตพำนักแบบไม่จำกัดเวลา ( onbepaalde tijd) โดยอัตโนมัติ — แต่นโยบายใหม่นี้ที่ออกมา แปลว่า ผู้อพยพถึงแม้จะอยู่ที่นี่มานาน แต่ถ้าทันทีที่ประเทศต้นทางปลอดภัย พวกเขาก็ต้องกลับค่ะ
  • เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมชายแดน

การต่างประเทศและกลาโหม

  • ยังคงสนับสนุนยูเครน ทั้งด้านการทหาร และการเงิน
  • งบกลาโหมเพิ่มจากปีที่แล้วเล็กน้อย เป็น 22 พันล้านยูโร เงินจะใช้ไปในการปรับปรุงและต่ออายุอุปกรณ์ให้มีความทันสมัย กลาโหมยังต้องการเงินจำนวนมากในระยะยาวในการชักจูงบุคลากรใหม่ๆ ให้มาทำงานด้วยค่ะ
  • ยังอยู่ในสหภาพยุโรป
  • ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาถูกตัดงบ เน้นไปที่การช่วยเหลือด้านการจัดการน้ำและอาหารเป็นหลัก ลดบุคลากรในสถานกงสุลและสถานทูต 10 เปอร์เซ็นต์
  • ห้ามการจัดหาเงินทุนจากต่างประเทศโดยแอบแฝง เช่น ผ่านสมาคม มูลนิธิ โบสถ์ และองค์กรนอกระบบของเนเธอร์แลนด์
  • กฎหมายอาญาเยาวชนเข้มขึ้น เพิ่มโทษจำคุกสูงสุดสำหรับเด็กอายุ 14-15 ปี รัฐบาลกำลังหาทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ปกครองต้องรับผิด หากบุตรหลานของตนก่ออาชญากรรม

การยุติธรรมและความมั่นคง

  • เพิ่มงบให้หน่วยความมั่นคง และข่าวกรอง AIVD และ MIVD
  • มีการฝึกซ้อมในช่วงวิกฤตและการประชุมสุดยอดด้านความปลอดภัยซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ
  • ตำรวจและบริการอัยการจะมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการกับการจารกรรม 
  • ห้ามการนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และบริการจากประเทศที่เป็นศัตรูทางไซเบอร์กับเนเธอร์แลนด์
  • เพิ่มบทลงโทษสำหรับอาชญากรรมการก่อการร้าย

ที่อยู่อาศัยและการเคหะ

  • เนื่องจากเนเธอร์แลนด์กำลังประสบปัญหาวิกฤตที่อยู่อาศัย รัฐมุ่งมั่นว่าจะสร้างบ้านเพิ่ม 100,000 หลังทุกปี โดยรัฐบาลจะเข้มงวดกับเทศบาล จังหวัด หรือใครก็ตามที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า
  • ทุ่ม 2.5 พันล้านยูโร เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคสำหรับโปรเจคก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่กำลังออกแบบ — 🙋🏻‍♀️ คือสร้างถนนหนทาง ไฟฟ้า อะไรต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกดึงดูดคนที่จะมาซื้อบ้านในโครงบ้านที่กำลังจะสร้างค่ะ
  • รัฐบาลหวังว่า โครงการก่อสร้างที่ปล่อยออกไซต์ของไนโตรเจนเป็นปริมาณน้อย จะสามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขอใบอนุญาต
  • ปี 2026 ภาษีโอนบ้านลดลง จากเดิมจ่าย 10.4 เปอร์เซ็นต์ของราคาบ้าน เหลือ 8 เปอร์เซ็นต์ รัฐหวังว่า วิธีนี้จะจูงใจให้คนลงทุนซื้อบ้านเพื่อปล่อยเช่าเพิ่มขึ้น

คมนาคม และโครงสร้างพื้นฐาน

  • ปีหน้า ตั๋วรถไฟ NS ขึ้นราคาอีก 6 เปอร์เซ็นต์ (เดิมจะขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ — แต่ NS กับกระทรวงฯ แบ่งรับภาระจ่ายครึ่งหนึ่งค่ะ ที่เหลืออีก 6 เปอร์เซ็นต์ ผู้โดยสารจ่าย)
  • ปี 2027 จะมีภาษีที่เรียกว่า “gedifferentieerde vliegbelasting” แปลว่า ภาษีการบินจะเพิ่มขึ้น สำหรับเที่ยวบินระยะยาวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า
  • มีวาระเรื่องเพิ่มความเร็วสูงสุดที่วิ่งได้บนทางด่วนเป็น 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มเมื่อไร
  • การเติบโตอย่างต่อเนื่องระยะยาวของสนามบิน Schiphol เป็นไปได้ด้วยเครื่องบินที่เงียบขึ้น และสะอาดกว่าเดิม

เกษตรกรรม การประมง ความมั่นคงทางอาหาร และสิ่งแวดล้อม

  • รัฐบาลนี้ผ่อนคลายความเข้มงวดเรื่องการปล่อยออกไซต์ของไนโตรเจนในภาคเกษตรกรรมค่ะ และจะมีเกณฑ์การวัดอัตราการปล่อยออกไซต์ของไนโตรเจนแบบใหม่ออกมา แต่ยังไม่มีรายละเอียด
  • รัฐบาลจะหาทางให้โครงการขนาดเล็ก ที่มีการปล่อยออกไซต์ของไนโตรเจนในปริมาณน้อย ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตก่อสร้างค่ะ
  • รัฐบาลจะไม่ตั้งเป้าบังคับให้ฟาร์มขนาดเล็กต้องบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยออกไซต์ของไนโตรเจน
  • ข้อตกลงการเวนซื้อคืนฟาร์มปศุสัตว์ของรัฐบาลที่แล้วยังคงอยู่
  • ลดปริมาณมูลสัตว์ด้วยการ “afroming van dierenrechten” (🙋🏻‍♀️ ไม่เข้าใจตรงนี้เหมือนกัน แต่น่าจะคือการลดจำนวนสัตว์ในฟาร์มลง???)
  • รัฐบาลชุดนี้จะมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรม และความมั่นคงทางด้านอาหาร และผ่อนคลายเรื่องกฎการปล่อยออกไซต์ของไนโตรเจนที่ยุโรปบังคับค่ะ — แล้วรัฐบาลจะไปรับหน้าคุยกับอียูอีกที

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน

  • เอาฟาร์มกังหันลมไปอยู่ในทะเล แทนที่จะอยู่บนบกค่ะ เป็นฟาร์มกังหันลมในทะเล โดยรัฐบาลจะดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อการประมงเป็นอันดับแรก
  • ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมให้ได้ 50 กิกะวัตต์ ภายในปี 2040
  • ไม่ดึงแก๊สจากบ่อแก๊สใต้เมือง Groningen
  • แต่ขยายการสกัดแก๊สในทะเลเหนือแทน
  • จัดสรรเงิน 9.5 พันล้านยูโรสำหรับสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก 2 แห่ง
  • จัดงบ 60 ล้านยูโร ช่วยผู้มีรายได้น้อยจ่ายค่าไฟฟ้า
  • ลดภาษีแก๊ส และไฟฟ้า
  • ยกเลิกเงินอุดหนุนสำหรับผู้ซื้อรถไฟฟ้า

ภาษี

  • ปรับขั้นบันไดของรายได้ต่อภาษีเล็กน้อยค่ะ
    • รายได้เริ่มต้นถึง 38,441 ยูโรต่อปี จ่ายภาษี 35.82 เปอร์เซ็นต์
    • รายได้ส่วน 38,441 ถึง 76,816 ยูโร (เดิมคือ 76,000 ยูโร) จ่ายภาษีส่วนนี้ 37.48 เปอร์เซ็นต์
    • ส่วนที่สูงกว่านั้นยังจ่ายคงเดิมเหมือนปีนี้
  • ปี 2026 ภาษีมูลเพิ่มของสินค้าพวกหนังสือ ร้านอาหาร การให้บริการ ศิลปะวัฒนธรรม และกีฬา จะกลับมาอยู่ที่ 21 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเช่นก่อนวิกฤติโคโรน่าค่ะ (ตอนนี้อยู่ที่ 9 เปอร์เซ็นต์)

อ้างอิง:

  1. Prinsjesdagblog — https://nos.nl/collectie/13979/liveblog/2537401-reacties-op-miljoenennota-schoof-tijd-nodig-voor-plannen
  2. Dit zijn de plannen en voornemens van het kabinet-Schoof — https://nos.nl/collectie/13979/artikel/2537546-dit-zijn-de-plannen-en-voornemens-van-het-kabinet-schoof
  3. Kabinet ambitieus over asiel en bouwen, maar stuit bij mest op grenzen — https://nos.nl/artikel/2536995-kabinet-ambitieus-over-asiel-en-bouwen-maar-stuit-bij-mest-op-grenzen
  4. Dit betekent Prinsjesdag 2024 voor je portemonnee — https://www.nu.nl/economie/6328530/dit-betekent-prinsjesdag-2024-voor-je-portemonnee.html