เนเธอร์แลนด์จัดว่าเป็นประเทศที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีประเทศหนึ่งเลยทีเดียวค่ะ ประเทศนี้มีมาตรการหลายอย่างในการที่จะกระตุ้นในประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม หลังจากที่เคยเขียนเล่าระบบการจัดการขยะในครัวเรือนของประเทศเนเธอร์แลนด์ไปแล้วเมื่อปีก่อน บทความตอนนี้ขอนำเสนออีกหนึ่งในการจัดการขยะอย่างแยบยลของประเทศนี้ค่ะ (มีใช้ทั่วยุโรปนะคแต่ขอเล่าเฉพาะของเนเธอร์แลนด์ประเทศเดียว ประเทศอื่นไม่มีประสบการณ์ตรง) และนั่นก็คือระบบ Statiegeld ค่ะ
Statiegeld คืออะไร
Statiegeld คือเงินมัดจำที่ได้คืนจากการนำขวดเปล่า เช่น ขวดเบียร์ ขวดน้ำอัดลม ไปคืนร้านค้าค่ะ –คือเวลาที่เราซื้อสินค้าเหล่านี้ เช่น เบียร์ (ขวดแก้ว) หรือซื้อเบียร์ยกลัง (ลังเป็นลังพลาสติกค่ะ) หรือซื้อน้ำอัดลมขวดพลาสติกที่มีขนาดมากกว่า 0.5 ลิตร สินค้าเหล่านี้จะบวกเงินมัดจำ Statiegeld ไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ และเราจะได้เงินจำนวนนี้คืนเมือนำขวดเหล่านี้ไปคืนร้านค้า
คือระบบที่นี้ถ้าเปรียบไปกับของเมืองไทย ก็คล้ายๆ ขวดน้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้วน่ะค่ะ ที่ร้านค้าต้องจ่ายค่ามัดจำลังและขวด ดังนั้นเวลาขาย แม่ค้าจึงขายน้ำอัดลมแบบใส่แก้ว หรือใส่ถุงใส่น้ำแข็งให้ลูกค้า ไม่ได้ขายทั้งขวด — แต่เนื่องจากระบบนี้ไม่ได้มีกับสินค้าพวกขวดเบียร์ หรือขวดน้ำเปล่า น้ำอัดลมขนาดใหญ่ ดังนั้นคนทั่วไปจึงทิ้ง กลายเป็นขยะ และก็มีอาชีพคนเก็บขยะมาคอยเก็บขยะพวกนี้ไปขายอีกต่อหนึ่ง — แต่ที่แตกต่างจากของฮอลแลนด์คือ ระบบมัดจำขวดนี้ของเมืองไทย ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมค่ะ แต่อยู่บนแรงจูงใจของการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ดังนั้นจึงไม่ได้ลดขยะแต่อย่างใด กลับเป็นการเพิ่มขยะถุงพาสติกอีกต่างหาก
ในขณะที่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์มีระบบเงินมัดจำ Statiegeld จึงทำให้คนดัตช์ทั่วไปที่ซื้อสินค้าเหล่านี้ ไม่ทิ้งขวดที่ใช้แล้วลงถังขยะค่ะ หากแต่จะเก็บรวบรวมไว้ เพื่อไปแลกเอาเงินมัดจำคืน — ถึงแม้เงินมัดจำจะเป็นเงินแค่น้อยนิด (เทียบกับค่าครองชีพ) แต่เหมือนเป็นจิตวิทยาน่ะค่ะ ทำให้คนไม่ทิ้งขยะขวดเหล่านั้น แต่จะเก็บไว้แลกเงินคืน
สินค้าอะไรบ้างที่มี Statiegeld
ไม่ใช่ขวดทุกใบมี Statiegeld ค่ะ อย่างขวดแก้ว เช่น ขวดไวน์ เวลาซื้อไม่มีเงินมัดจำ Statiegeld แปลว่า ซื้อมา ดื่มไวน์หมดแล้ว ก็ให้รวบรวมทิ้งลงในถังขยะรีไซเคิลสำหรับแก้วได้เลยค่ะ — (ที่เนเธอร์แลนด์ ถังขยะรีไซเคิลแก้ว มีแยกตามสีของแก้วด้วยนะคะ คือ สีขาว สีเขียว และสีน้ำตาล เพื่อความสะดวกในขั้นตอนของการรีไซเคิลนั่นเอง)
เหตุผลที่สินค้าพวกขวดแก้ว (ยกเว้นขวดเบียร์) ไม่มีเงินค่ามัดจำขวด เพราะไม่คุ้มค่ะ ค่าใช้จ่ายในการคัดแยก และล้างขวดให้สะอาด ก่อนนำมาบรรจุสินค้าใหม่ แพงกว่าค่าใช้จ่ายในการเอาขวดแก้วนั้นมาหลอม แล้วทำเป็นขวดใหม่เยอะกว่ามากค่ะ ดังนั้นขวดแก้วจึงใช้วิธีหลอมนำกลับมาใช้ใหม่แทน
ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระป๋อง เช่น กระป๋องเบียร์ กระป๋องน้ำอัดลม ที่เนเธอร์แลนด์ทิ้งค่ะ ไม่มีเงิน Statiegeld — แต่ถ้าเป็นประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น เยอรมันนี นอร์เวย์ และสวีเดน ประเทศเหล่านี้เก็บเงินมัดจำเบียร์กระป๋องค่ะ
ส่วนพวกขวดน้ำอัดลมที่เป็นพลาสติก PET จะมีค่ามัดจำเฉพาะขวดที่มีขนาดมากกว่า 0.5 ลิตรเท่านั้นค่ะ น้อยกว่านั้นให้ทิ้งในถังขยะสำหรับพลาสติกค่ะ
Statiegeld ราคาเท่าไร
เอาเม้าท์เลื่อน (สำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์) หรือเอามือแตะที่รูป (สำหรับคนที่ใช้มือถือ) เพื่อราคาของเงิน Statiegeld ของแต่ละบรรจุภัณฑ์ค่ะ
จะเช็คได้อย่างไรว่าขวดนั้นมี statiegeld หรือไม่
ดูจากฉลากที่ข้างขวดเลยค่ะ
แลกเงินมัดจำคืนได้ที่ไหนบ้าง
ง่ายๆ คือซื้อที่ร้านไหน ก็แลกคืนที่ร้านนั้นเลยค่ะ โดยแลกคืนที่เครื่องอัตโนมัติ จะมีอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปค่ะ
ข้อดีของระบบ Statiegeld
หลักๆ คือทำให้ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้กลายเป็นขยะทิ้งในสิ่งแวดล้อมน้อยลงค่ะ พอขยะน้อยลง เรื่องดีๆ อื่นๆ ก็ตามมา
1. ดีต่อสิ่งแวดล้อม ขยะได้กลับสู่กระบวนการรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่
2. ลดปริมาณขยะ ในเนเธอร์แลนด์พบว่ามีขวดแก้วเพียง 15% ของขยะครัวเรือนทั้งหมด (ขยะครัวเรือนในที่นี้หมายถึง ขยะที่ทิ้งโดยไม่ได้แยกขยะน่ะค่ะ คนดัตช์บางครัวเรือนอาจจะไม่ได้แยกขยะ และทิ้งทุกอย่างรวมๆ ในถังขยะ) เนื่องจากขวดแก้วส่วนใหญ่ถูกนำไปรีไซเคิล หรือนำไปทำความสะอาดและเวียนกลับมาใช้ใหม่
3. ลดปัญหาขยะปนเปื้อนในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งสัตว์ป่าอาจจะมากินขยะ ทำให้ป่วยได้ หรือขยะที่ทิ้งเกลี่ยนในพื้นที่ธรรมชาติ ก็ทำให้ทัศนียภาพไม่น่าดู
4. เมื่อขยะปนเปื้อนในพื้นที่ธรรมชาติน้อย ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียลงได้
5. ลดการปล่อยก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากการเผาไหม้ขยะลงได้
ข้อเสียของระบบ Statiegeld
1. ไม่ใช่ว่าระบบ statiegeld จะมีแต่ข้อดีและทุกคนเห็นด้วยค่ะ ข้อเสียก็มี และหน่วยงานที่คัดค้านระบบนี้ก็มี เช่น บริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลมอย่างโคคา โคล่า และซุปเปอร์มาเก็ตอย่าง Albert Heijn — เหตุที่บริษัทเหล่านั้นคัดค้านระบบ Statiegeld ก็เนื่องจากว่า พลาสติก PET ปัจจุบันนี้ไม่มีการนำมาล้างและนำกลับมาบรรจุใหม่อีกแล้วค่ะ พลาสติกเหล่านี้จะถูกส่งไปรีไซเคิลทั้งหมด ไม่เหมือนขวดเบียร์ — ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงมองว่า ไม่ควรที่จะคงระบบ Statiegeld กับสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นขวดพลาสติกค่ะ
2. ระบบ Statiegeld เป็นเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นเขตการค้าเสรี เพราะผู้ประกอบการจะขายสินค้า แทนที่จะวางสินค้าขายอย่างเดียว ก็ต้องคำนึงถึงระบบนี้ด้วย
3. ระบบ Statiegeld เพิ่มค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะค่ะ เพราะต้องมีการจัดการขวดเปล่าที่เป็น statiegeld นี้แยกออกต่างหาก อีกทั้งยังไปเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ตผู้จัดจำหน่าย และผู้ส่งสินค้าด้วย
4. ระบบ Statiegeld ใช้ได้กับบรรจุภัณฑ์เพียงไม่กี่อย่าง เป็นเพียงส่วนน้อยมาก จึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสำหรับปัญหาเรื่องขยะบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดค่ะ เพราะมีบรรจุภัณฑ์อีกหลายชนิดที่ซื้อมา ใช้แล้วก็ทิ้ง ทำให้ Statiegeld ไม่ได้มีผลใดๆ ต่อปริมาณขยะโดยรวมค่ะ
อนาคตของระบบ Statiegeld
สำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากระบบนี้มีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะยังอยู่ต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีระบบที่ดีกว่ามาทดแทนได้ค่ะ เพราะการยกเลิกจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี และนอกจากนี้ยังมีการพยายามผลักดันให้ขยายระบบ Statiegeld ไปยังสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติก PET ขนาดน้อยกว่า 0.5 ลิตร และก็พวกเครื่องดื่มกระป๋องด้วยค่ะ
อ้างอิง :
- http://financieel.infonu.nl/diversen/29541-hoeveel-statiegeld-krijg-je-er-eigenlijk-voor.html
- เว็บไซต์นี้ดีค่ะ เป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเฉพาะสำหรับระบบ Statiegeld นี้เลยค่ะ http://echteheld.nl/
- http://mens-en-samenleving.infonu.nl/diversen/146287-verdienen-met-lege-flessen.html
- รูป Statiegeldautomaat เอามาจากเว็บ https://nl.wikipedia.org/wiki/Statiegeld
ขอบคุณ :
ครูมิ้งค์แห่ง goed nederlands praten voor thai เรียนภาษาดัตช์กันเถอะ สำหรับการแนะนำเรื่อง Statiegeld ค่ะ